การถ่ายรูปปลา

ถ้าท่านมีความรู้และฝีมือในการถ่ายรูปอยู่ด้วย การเลี้ยงปลาตู้จะเบิกความสนใจในด้านนี้ให้ท่านยิ่งเพลิดเพลินขึ้นอีกมาก

มีกล้องถ่ายรูปโดยใช้ฟิล์มสีดีๆ สักกล้องหนึ่ง พร้อมด้วยระบบแฟลชไลท์ด้วยอิเลคตรอนิก การถ่ายภาพปลาสีสันงามๆที่ท่านชอบใจจะทำได้โดยไม่ยากเลย

ท่านอาจบันทึกภาพตอนผสมพันธ์ปลาตู้ของท่านได้ตลอดตั้งแต่ต้นจนปลายก็ได้ ถ้าใช้กล้องเลนส์สะท้อนเดี่ยวขนาดใหญ่หรือเมื่อท่านได้พบปลาพันธ์แปลกเข้าที่ไหน ก็ถ่ายไว้ประดับความรู้และสืบเบาะแส ของปลาชนิดนั้นได้อย่างเพลิดเพลินยิ่ง

ในสมัยที่เครื่องถ่ายภาพวีดีโอก็สามารถใช้ในบ้านได้ ท่านจะใช้เครื่องวีดีโอถ่ายภาพปลาในตู้ของท่าน หรือของเพื่อนบ้านไว้ฉายดูเล่น ก็ดีเหมือนกัน

การประกวดปลาตู้

การประกวดปลาตู้ที่เป็นงานใหญ่ทำกันเป็นประจำในสามประเทศคือ สหรัฐ คานาดาและอังกฤษ มีการแสดงปลาเหมือนอย่างการประกวดสัตว์เลี้ยงทั่วๆไป โดยทั่วๆ ไปเขาจะแบ่งปลาออกเป็นพวกๆ ตามตระกูลปลา มีตระกูลไซปรินิด,คาราซิน,ชิคลิด,ตระกูลปลากด,ตระกูลปลากระดี่,ตระกูลปลาออกลูกเป็นตัว เหล่านี้เป็นต้น การแสดงนั้นอาจแสดงเดี่ยวเป็นคู่ หรือเป็นกลุ่มตระกูล โดยให้อยู่ในตู้เปล่าที่ปราศจากสิ่งตบแต่ง การให้คะแนนปลาจะให้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ตามปกติ เขากำหนดไว้ 5ประการ มีขนาด,ลักษณะครีบ,สีสัน,ลำตัวและการเคลื่อนไหว ประการละ 20 คะแนน ปลาบางตัวอาจได้คะแนนเต็ม 100 ก็ได้ ถ้าเข้าหลักเกณฑ์บริบูรณ์ตามที่เขากำหนดในการประกวดของสโมสรต่างๆ เกณฑ์ที่กำหนดอาจแตกต่างไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ถือเอา 5 ประการดังกล่าวเป็นสำคัญ

ปลาที่เข้าประกวดแต่ละคราวอาจมีจำนวนถึง 500 ตัว มีกรรมการตัดสินอย่างน้อย 5 คนโดยให้คะแนนแก่ปลาแต่ละตัวที่เข้าประกวด แล้วนำคะแนนมาเปรียบเทียบกัน การตัดสินอาจรู้ผลได้ในสองชั่วโมงเท่านั้น แม้ว่าอาจมีปลาเข้าประกวดถึง 500 ตัว ก็ตาม นอกจากประกวดตัวปลาแล้ว ยังมีการประกวดตู้เลี้ยง ดูลักษณะการตบแต่งตู้ และประกวดผสมพันธ์ปลาเป็นต้น ในการประกวดการผสมพันธ์ปลา ผู้ส่งปลาที่ผสมเข้าประกวดจะนำปลาของตนไว้ในตู้ที่สี่หรือหกตัวที่เป็นชนิดเดียวกันคัดเอาแต่ตัวที่ดีที่สุด ให้กรรมการตัดสินว่าของใครจะผสมได้ดีกว่ากัน

งานแสดงปลาตู้ในยุโรปอาจมีลักษณะแตกต่างไปกว่านี้ คือแทนที่จะมีการประกวดปลา เขาเพียงแต่เอาปลามาแสดงโดยเน้นหนักไปในการแลกเปลี่ยนความรู้ มีการแสดงปาฐกถาเรื่องปลา และจัดการประชุมสัมมนาตามหัวข้อที่กำหนดเป็นคราวๆส่วนการประกวดปลานั้นก็ทำกันเหมือนกัน แต่มักเป็นการประกวดทั้งตู้เลี้ยง ซึ่งคณะกรรมการจะไปดูตามบ้านที่สมัครเข้าประกวด

การจัดงานประกวดและงานแสดงปลาตู้นี้นับว่าเป็นเครื่องกระตุ้นความสนใจในการเลี้ยงและผสมพันธ์ปลาตู้อย่างจริงจังแม้ว่านักเลี้ยงปลาตู้บางคนจะไม่ชอบการประกวดเลยก็ตาม แต่การแสดงปลาตู้ก็ช่วยให้มีปลาพันธ์ใหม่ๆเกิดขึ้น โดยผู้สนใจเที่ยวหามาเลี้ยง หรือมิฉะนั้นก็ผสมพันธ์ได้ ทำให้มีการขวนขวายหาความรู้ในการเลี้ยงปลาตู้ที่ได้ผลอย่างกว้างขวาง

ขยายประโยชน์ไพศาล

ในชั้นต้นท่านอาจเลี้ยงปลาตู้ไว้เพียงเพื่อชมเล่น ให้เกิดความสบายตาสบายใจเท่านั้น เมื่อท่านได้ดำเนินการตามหลักวิชาดังจาระไนมาแต่ต้นแล้ว ท่านคงจะรู้สึกว่า การเลี้ยงปลาตู้เป็นงานอดิเรกที่ให้ความเพลิดเพลินยิ่งกว่าที่คิดไว้แต่ต้นก็ได้ แท้จริงการเลี้ยงปลาตู้ตามหลักวิชายังอำนวยคุณประโยชน์ให้แก่ท่านนอกเหนือไปกว่านั้นอีก

คิดดูเพียงเท่าที่มองเห็นง่ายๆ การเลี้ยงปลาตู้ตามหลักวิชาทำให้เราต้องศึกษาพิจารณาเหตุผลไปด้วยในตัว ว่าทำอย่างไรจึงจะเหมาะจะดี และเมื่อศึกษาพิจารณาไปเราจะได้ความรู้ในเรื่องปลายิ่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมาถึงขั้นที่ผสมพันธ์ได้ เมื่อได้พันธ์ดีๆสีแปลกๆ เราก็จะรู้สึกภาคภูมิใจ และ ในที่สุดงานอดิเรกของท่านอาจกลายเป็นเงินเป็นทองขึ้นมาก็ได้ ใครจะรู้ ?

อย่างน้อยงานอดิเรกชนิดนี้ก็น่าจะเพิ่มพูนผลประโยชน์แก่ท่านได้ในทางสังคม ทำให้ท่านได้เพื่อนดีๆเพิ่มขึ้น เพราะผู้ที่มีงานอดิเรกชนิดเดียวกันย่อมประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกัน ทำให้วงสังคมของผู้สนใจงานอดิเรกชนิดเดียวกันขยายกว้างไกลออกไปเรื่อยๆ จริงอยู่ในเวลานี้เรายังไม่มีสมาคมผู้เลี้ยงปลาตู้เหมือนในต่างประเทศ แต่การที่มีผู้นิยมเลี้ยงปลาตู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆคงจะชักนำให้เกิดการก่อตั้งสมาคมขึ้นได้สักวันหนึ่งเป็นแน่

การเลี้ยงปลาตู้ได้เริ่มขึ้นในประเทศทางตะวันออกก่อนเพื่อนบัดนี้ได้เป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลกแล้วทั้งในทั้งในยุโรปและอเมริกาเฉพาะในสหรัฐประเทศเดียวประมาณกันว่ามีบ้านที่เลี้ยงปลาตู้หรือมีแอ่งน้ำเลี้ยงปลาประเภทสวยงามหนึ่งบ้านในทุกๆสิบบ้านทีเดียว นานาประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกาต่างก็มีสมาคมผู้เลี้ยงปลาตู้ ที่สมาชิกอาจแลกเปลี่ยนข่าวสารความรู้และ ความคิดเห็นซึ่งกันและกันได้โดยสะดวก เพื่อความสนใจของท่านที่อาจประสงค์จะติดต่อด้วย จะขอนำชื่อสมาคมในประเทศเหล่านี้มาระบุไว้ในที่นี้สัก 2-3 ประเทศ

สมาคมที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอมริกา คือ Federation of American Aquarium Societies (F.A.A.S.)

คานาดามี Cannadian Association of Aquarium Clubs (C.A.A.C.)

อังกฤษมี Federation of British Aquatic Societies (F.B.A.S.)

ในยุโรปมีองค์การส่งเสริมการเลี้ยงปลาตู้ของเอกชนอยู่ในหลายประเทศ ตามชื่อในประเทศนั้นๆ คือ :

เยอรมนี – Verband Deutscher ver Aquarien (V.D.A.)

ฝรั่งเศส – Federation Francais des Associations Aquaphile et Terrariophile (F.F.A.A.T.)

เนเธอร์แลนด์ (ฮอลันดา) – Netherlands Bond Aquaria et Terraria (N.B.A.T.)

เดนมาร์ก – Dansk Akvarie (D.K.A.)

นอรเว – Norsk Akvarieforbund (N.A.F.)

โปแลนด์ – Polski Zwiaseke Akvarystow (P.Z.A.)

องค์การเหล่านี้ทั้งหมดเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศเรียกว่า Aqruarium Terrarium Internationnal (A.T.I.)ในสหรัฐอเมริกา

ถ้าท่านประสงค์จะติดต่อกับองค์การสมาคมของแต่ละประเทศ ท่านเพียงแต่ลงชื่อสมาคมและประเทศที่ตั้งสมาคมเท่านั้นหนังสือติดต่อของท่านก็จะถึงสมาคม เพราะที่ทำการไปรษณีย์ในประเทศนั้นๆ รู้จักดี

สมาคมระดับชาติเหล่านี้วางกฎเกณฑ์ไว้ให้สมาคมระดับท้องถิ่นถือปฏิบัติในการเปิดการแสดงปลาในลักษณะประกวดซึ่งกระทำกันเป็นการประจำปี นอกจากนี้ยังออกนิตยสารตีพิมพ์ไปเผยแพร่ข่าวสารอันมีประโยชน์ และให้ความรู้ในเรื่องราวเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาตู้อันมีคุณค่ายิ่งอีกด้วย

ภาวะแวดล้อมตู้ปลา

ภาวะแวดล้อมตู้ที่ใช้เลี้ยงลูกปลาก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงและปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม

มีปลาบางชนิด โดยเฉพาะปลาตระกูลกระดี่ และปลากัดไม่ชอบลมเย็น ลูกปลาจำพวกนี้จึงไม่ถูกกับลมเย็น ที่อาจเข้าไปในตู้ได้ทางฝาครอบ ดังนั้นจึงควรใช้ผ้าบุช่องฝาครอบเสีย เพื่อบรรเทาอันตรายจากลมเย็นที่อาจเล็ดลอดเข้าไปได้ให้น้อยลง

ลูกปลาต้องกินอาหารอยู่เรื่อยๆเพื่อกระตุ้นความเอาใจใส่ของมันควรเปิดไฟเหนือตู้ทิ้งไว้อ่อนๆเสมอ ถ้าดับไฟให้ตู้มืดมันจะพักเสีย

เมื่อลูกปลาเจริญโตขึ้น ให้เปลี่ยนน้ำในตู้โดยถ่ายน้ำเก่าออกเสียบ้าง ปล่อยอากาศเข้าให้เกิดพรายน้ำถี่ขึ้น และปรับระบบกรองน้ำให้รัดกุมยิ่งขึ้น

ปฏิบัติการเหล่านี้ทำให้น้ำเคลื่อนไหว ซึ่งให้ผลดีแก่ความเจริญเติบโตของลูกปลา ในระหว่างลูกปลาเจริญขึ้นให้สีสันและรูปพรรณทำนองเดียวกับปลาพ่อแม่พันธุ์ เราควรสนใจดูลักษณะของมัน ถ้าลักษณะของมันไม่เหมือนพ่อแม่พันธุ์ เช่น มีสีจางไป มีครีบและหางไม่เจริญสมบูรณ์ เราควรคัดปลาพวกนี้ออกเสีย ไม่ควรเลี้ยงไว้อีกต่อไป เพราะถ้าเลี้ยงให้โตเต็มที่ถึงเวลาผสมพันธุ์ก็จะทำให้พันธุ์เสื่อมลง ไม่ได้ปลาที่มีคุณภาพดี การคัดปลาพวกนี้ออกจะทำให้เหลือแต่ปลาที่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงไม่ควรเสียดายปลาที่หย่อนคุณภาพเป็นอันขาด ถ้ามีลูกปลาจำพวกนี้ปะปนอยู่ ควรคัดออกไปเสีย อย่าเลี้ยง

การดูแลลูกปลา

ลูกปลาพอเริ่มว่ายน้ำได้ก็ต้องการอาหารทีเดียว แต่ทั้งนี้พึงจำไว้ว่าลูกปลาพึงจำไว้ว่าลูกปลาที่เป็นตัวขึ้นจากไข่ เมื่อยังไม่ว่ายน้ำย่อมได้รับอาหารพออยู่แล้วจากถุงไข่ที่ติดอยู่ ดังนั้นจึงไม่บังควรให้อาหารในตอนนั้น ต่อมาเริ่มว่ายน้ำได้แล้วมันจึงจะกินอาหารเป็น การให้อาหารลูกปลาที่ยังกินไม่เป็นนอกจากจะเป็นเปล่าประโยชน์แล้ว ยังจะเป็นโทษเสียอีก เพราะอาหารจะทำให้ตู้ปลาสกปรกและเกิดมลพิษแก่น้ำ ถ้าเรายังไม่ได้ช้อนเอาลูกปลาไว้ในตู้ใหญ่รวมกับปลาอื่นๆ

อันที่จริงลูกปลานั้นจะต้องเลี้ยงต่างหากก่อนจนกว่าจะตัวโตพอสมควรแล้วจึงเลี้ยงรวมกับปลาอื่นๆได้ ถ้ามิฉะนั้นลูกปลาอาจกลายเป็นเหยื่อของปลาใหญ่ก็ได้

การให้อาหารแก่ลูกปลาในระยะแรกควรจะให้เท่าใดขึ้นยู่กับขนาดของลูกปลา ลูกปลาแต่ละชนิดมีขนาดไม่เท่ากัน จึงควรให้อาหารตามสมควรแก่ขนาดโดยให้แต่น้อยก่อน ถ้าไม่พอมันกินจึงค่อยเพิ่ม โดยทั่วๆ ไปลูกปลาที่เกิดจากไข่เรี่ยราดและลูกปลาชนิดที่ต้องอาศัยหวอดต้องการอาหารน้อยกว่าลูกปลาชนิดที่ต้องอาศัยหวอดต้องการอาหารน้อยกว่าลูกปลาจำพวกชิคลิดและลูกปลาที่ออกลูกเป็นตัวเสมอ

อาหารลูกปลาในระยะแรกมีทั้งชนิดเป็นผงละเอียด เป็นน้ำหรือแป้งเปียก ซึ่งเขาทำไว้สำหรับลูกปลาทั้งชนิดออกไข่และออกลูกเป็นตัวให้เลือกได้

อาหารชนิดหนึ่งเรียกว่า น้ำเขียว (Green water) เป็นน้ำเลี้ยงตัวโปรโตซัวซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเซลเดียวที่เล็กที่สุด ตัวไรน้ำและหนอนชนิดเล็กจิ๋วเรียกว่า grindal worm ก็เหมาะสำหรับปลาที่ยังอ่อนที่สุด ถ้าลูกปลามีขนาดเขื่องขึ้นพอจะให้กินกั้งฝอยได้ กั้งฝอยจะเป็นอาหารบำรุงลูกปลาอย่างวิเศษ ต่อไปก็ให้อาหารจำพวกหนอนขาว ตัวลูกน้ำ และอาหารป่นตามขนาดของความเติบโต

ข้อควรจำที่สำคัญมีอยู่ว่า อย่าให้อาหารแก่ลูกปลาจนเหลือกินกลายเป็นสิ่งตกค้าง ซึ่งจะทำให้น้ำเสีย ให้ทีละน้อยๆแต่บ่อยๆเป็นดีที่สุด

ภายหลังการผสมพันธุ์

เมื่อปลาผสมพันธุ์กันแล้วก็จะต้องถึงตอนออกลูก ตอนนี้ควรอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะปลาตัวผู้บางพวกพวกบางตัวยังคึกอยู่ แม่ตัวเมียตกลูกแล้วก็ยังชอบไล่ติดตัวเมีย ในกรณีเช่นนี้ถ้าเราคอยระวังอยู่ก็อาจช่วยตัวเมียมิให้ชอกช้ำได้ สำหรับปลาที่ออกไข่เรี่ยราด เราควรเอาพ่อและแม่ปลาออกจากอ่างเสียเลยเมื่อออกไข่แล้ว เพื่อป้องกันมิให้มันกินไข่ของมันเอง เนื่องจากเป็นธรรมชาตินิสัยของปลาจำพวกนี้

แม้แต่ปลาในตระกูลชิคริคซึ่งออกจะพิถีพิถันในการเลือกที่ออกไข่อย่างน่าดูน่าสังเกต เพราะมีนิสัยหวงแหนและรักไข่ของมันมาก ทั้งๆที่รู้กันว่า มันเป็นพ่อแม่ที่ดี บางทีเมื่อออกไข่แล้วมันอาจเพิกเฉยละเลยต่อการกกไข่ หรืออาจกินไข่เสียเลยก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ควรเอาปลาพ่อหรือแม่ตัวใดตัวหนึ่งออกไปเสีย ปล่อยให้อีกตัวหนึ่งทำหน้าที่กกไข่ตามลำพัง หรือมิฉะนั้นก็เอาพ่อแม่ออกไปเสียทั้งสองตัว ให้ท่านทำหน้าที่กกไข่แทน โดยเอาเครื่องปล่อยอากาศไว้ใกล้ไข่ให้น้ำกระเพื่อมเหมือนอย่างปลาใช้ครีบโบกฉะนั้น

ปลาบางชนิดชอบออกไข่หมกไว้ตามพุ่มต้นไม้น้ำ หรือตามซอกขอนไม้ที่พื้นตู้ หรือมิฉะนั้นก็ฝังไข่ไว้ในกรวดทีเดียว ในกรณีเช่นนี้ควรเอาไข่มารวมกันไว้เสีย โดยจะเอาไว้ในน้ำตื้น เพื่อสะดวกแก่การฟักตัวก็ได้ หรือเอาไข่ขึ้นซุกไว้ที่ขอนไม้ที่ค่อนข้างแห้งเสียสัก ๒๓ เดือนแล้วจึงเอาลงน้ำปล่อยให้ฟักเป็นตัวก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดของปลาจะชอบอย่างไหน

ปลาตัวผู้บางชนิดคึกจัดให้มีกำลังมาก เพราะฉะนั้นถึงควรจับให้ผสมพันธุ์เป็นสามเส้า คือตัวผู้หนึ่งต่อตัวเมียสองตัวจึงจะพอสมดุลกัน

ปลาตัวเมียในชนิดที่ก่อหวอดทำที่ออกไข่นั้น เมื่อตกไข่แล้วควรย้ายที่ไปเสีย ปล่อยให้ตัวผู้ทำหน้าที่กกไข่เอง เพราะปลาตัวผู้จำพวกนี้จะหวงรังและลูกอ่อนอย่างที่สุด

ปลาตัวเมียในจำพวกที่ออกลูกเป็นตัวนั้น เมื่ออกลูกแล้วถ้าทำได้ก็ควรจะให้พักเสียสัก ๒๓ วันก่อน แล้วจึงเอากลับคืนตู้เลี้ยง มิฉะนั้นจะไม่มีกำลังรับผสมพันธุ์กับตัวผู้ใหม่อีก

การแยกคู่ปลา

ก่อนที่จะนำคู่ปลาที่ออกลูกเป็นไข่ลงในตู้ผสมพันธุ์ เราควรแยกตัวผู้และตัวเมียที่เลือกไว้แล้วให้ห่างกันเสียก่อน ตามปกติเราควรเอาตัวเมียไว้ในตู้ผสมพันธุ์ก่อนสัก ๒-๓ สัปดาห์ เพื่อให้ปลาตัวเมียเกิดความรู้สึกว่ามันเป็นเจ้าของถิ่น พอเอาตัวผู้ลงไปตัวผู้จะได้ยอมรับความเป็นเจ้าถิ่นของตัวเมียอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะว่าปลาจำพวกนี้ตัวผู้ที่อยู่ก่อนจนกลายเป็นเจ้าของถิ่นมักจะกัดตัวเมียถ้าตัวเมียไม่ยอมผสมในทันที โดยมันถือว่าเมื่อมันเป็นเจ้าของถิ่น ปลาตัวเมียต้องยอมให้มันผสมพันธุ์เสมอ ถ้าให้ตัวเมียเป็นเจ้าของถิ่น การผสมพันธุ์จึงจะเป็นไปโดยเรียบร้อย

ส่วนปลาที่ออกลูกเป็นตัวทีละมากๆ นั้นไม่จำเป็นที่เราจะส่งเสริมหรือกระตุ้นการผสมพันธุ์ แต่เพื่อให้ได้ลูกปลาที่มีคุณภาพเราควรจะควบคุมการผสมพันธุ์ของมัน โดยเลือกเอาตัวที่มีสีใดสีหนึ่งเด่นๆ โดยเฉพาะ เพราะการผสมหลากสีเท่าที่ปรากฏแล้วไม่ค่อยได้ผล

การเลือกคู่ผสมพันธุ์

ไม่ว่าท่านจะทำการผสมพันธุ์ปลาชนิดวางไข่หรืออกลูกเป็นตัว ท่านจะเลือกคู่ผสมพันธุ์ที่เหมาะสมเสียก่อน นั่นคือเลือกเอาปลาคู่ที่สมบูรณ์เต็มที่ การที่จะรู้ว่าปลาตัวไหนเป็นตัวผู้ ตัวไหนเป็นตัวเมียนั้นไม่ยาก ถ้าเป็นปลาชนิดที่ออกลูกเป็นตัวผู้ให้ดูที่ครีบทวารดังกล่าวมาแล้วในบทว่าด้วยอวัยวะปลา เพราะปลาตัวผู้มีครีบทวารในรูปที่ผิดแผกไปจากครีบปลาตัวเมียจนเห็นได้ชัด สำหรับปลาชนิดที่ออกไข่นั้นลักษณะของครีบทวารเป็นแบบเดียวกัน และอาจมีครีบเด่นกว่ากันด้วย

ในการเลือกคู่ผสมพันธุ์ที่สมบูรณ์จริงๆนั้น เราอาจดูความสมบูรณ์ที่สีสันซึ่งควรจะมีสีสันซึ่งควรจะเป็นสีสด ดูที่ครีบว่าเจริญดีหรือไม่และดูความเจริญโดยทั่วไปของปลาโดย ทั่วๆ ไป โดยเฉพาะในขณะที่มันว่ายน้ำ ปลาที่แข็งแรงจะมีอาการกระปรี้กระเปร่าให้เห็นได้

ปลาในตระกูลชิคลิด ซึ่งส่วนมากเป็นปลาจากแอฟริกา มักเลือกคู่ของมันเอง ถ้าปลาจำพวกนี้จับคู่กันโดยแสดงให้เห็นว่าปลาคู่นั้นจะเลี่ยงออกจากหมู่ไปอยู่ต่างหาก เราอาจถือว่าปลาคู่นั้นเป็นคู่ผสมพันธุ์ที่แท้จริงได้ทีเดียว

แต่ปลาที่ออกลูกเป็นตัวนั้นมักเลือกคู่เอาเองอย่างส่งเดช มันพร้อมที่จะผสมพันธุ์กับตัวใดตัวหนึ่งก็ได้โดยไม่เลือกสีสัน ไม่เลือกว่าคู่ของมันจะสมบูรณ์หรือไม่ ในกรณีเช่นนี้เราต้องเลือกคู่ให้มันและแยกคู่ปลาออกไปเสียแต่เนิ่นๆ

ปลาอมลูก

ปลาอมลูกพันธุ์อียิปต์ (Hemihaplochormis multicolor) ในภาพนี้อาจไม่จำเป็นต้องมีที่ผสมพันธุ์เป็นพิเศษ เพราะมันจะคุ้มครองลูกของมันจากอันตรายใดๆทุกขณะด้วยวิธีอมลูกไว้ในปากเสมอ ในขณะที่ตัวเมียทำหน้าที่นี้ มันจะไม่กินอาหารเลย

ปลาที่ชอบทำหวอดไข่

ปลาชนิดนี้ เช่น ปลากัด (Betta splendens) ในภาพเวลาจะผสมตัวผู้ชอบก่อหวอดไว้ก่อน และอาจไล่กัดตัวเมียเมื่อมันนึกว่าตัวเมียไม่ยินยอม ดังนั้นควรเอาตัวเมียไว้ในตู้ผสมพันธุ์ก่อน แล้วจึงปล่อยตัวผู้ลงเพื่อให้ตัวผู้รู้สึกว่า ตัวเมียนั้นเป็นเจ้าของถิ่นซึ่งจะต้องเอาแต่ใจ

ปลาที่ชอบซ่อนไข่

ปลาจำพวกนี้ออกไข่ไม่ให้ใครเห็น เวลาผสมก็ไม่ชอบให้ใครเห็น มันจะหาที่ซ่อนเร้นผสมพันธุ์กว่าใครจะรู้ว่ามันออกไข่ ไข่ก็มักจะเป็นตัวอ่อนเสียแล้ว สำหรับปลาพวกนี้เช่นปลาคีบตรง ( Pelvicachromis pulcher) ในภาพกระถางอาจเป็นที่ซ่อนไข่ของมันได้ดี

ปลาที่ชอบฝังไข่

สำหรับปลาที่ชอบฝังไข่ เช่นปลามุกอาร์เจนติน ( Cynolebias bellotti) ดังในภาพนี้ ควรใช้ปุยหรือกากเศษไม้แผ่ไว้ที่ตู้ให้ปลาสามารถฝังไข่ได้ เมื่อเสร็จการออกไข่แล้ว จึงเอาปุยที่ไข่ติดอยู่ออกผึ่งซัก - เดือน แล้วเอาจุ่มน้ำให้ไข่ออกเป็นตัว

ปลาที่ออกไข่เรี่ยราด

เช่น ปลาม้าลาย ( Brachydanio resio) ในภาพนี้เมื่ออกไข่แล้วมักชอบกินไข่ตัวเอง วิธีแก้ให้เอากรวดก้อนโตๆหรือลูกแก้วดาดพื้นตู้ไว้ ซึ่งเมื่อไข่ลงไปอยู่ในซอก ปลาก็ลงไปกินไม่ได้ เมื่อปลาออกไข่หมดและย้ายออกไป จึงค่อยเอากรวดออก

ตู้ผสมพันธุ์

ตู้ผสมพันธุ์นั้นเป็นตู้เลี้ยงชั่วคราว จึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องกรองน้ำอย่างใดๆ โดยเฉพาะเครื่องกรองน้ำที่กำลังไฟฟ้าและเครื่องกรองน้ำทางชีวภาพ ซึ่งอาจดูดเอาลูกอ่อนลงไปใต้กรวดก็ได้ เพราะลูกอ่อนยังว่ายน้ำไม่แข็งพอ หากจะใช้ก็ใช้เพียงเครื่องกรองน้ำด้วยฟองน้ำธรรมดาเท่านั้นก็พอ

สำหรับอุณหภูมิในตู้ผสมพันธุ์นั้นควรให้อยู่ในระดับเดียวกับในตู้เลี้ยง สภาพของน้ำก็ควรเหมือนกัน สำหรับปลาที่ออกลูกเป็นตัว ตู้ผสมพันธุ์จะเป็นที่อาศัยของแม่ปลาตั้งแต่ตอนตั้งท้องทีเดียว ดังนั้นจึงต้องแยกแม่ปลาออกจากตู้เลี้ยงเสียแต่เนิ่นๆในระยะอุ้มท้อง ๓๐ วัน หากจะใช้เรือนตะแกรงกั้นไว้เฉพาะก็ได้ แต่แม่ปลาอาจเกิดความอึดอัดและอาจตกลูกก่อนเวลาก็ได้

ประเภทของการแพร่พันธุ์

ปลาที่ทิ้งไว้ไข่เรี่ยราดนั้นไม่สู้จะแยแสกับไข่ของมันนักและถ้าเราปล่อยไว้ มันก็จะกินไข่เหล่านั้นเสียเลย หลักการที่จะป้องกันการกินไข่คือต้องแยกปลาพ่อแม่ออกไปเสียหลังจากที่มีการออกไข่และผสมเชื้อแล้ว วิธีที่ดีที่สุดได้แก่การใช้ตาข่ายหรือตะแกรงกั้นระหว่างตัวปลากับไข่ไว้เสีย ให้ไข่เท่านั้นที่ตกถึงพื้นตู้ โดยที่ปลาจะลงไปถึงพื้นตู้ไม่ได้ หรือจะใช้ก้อนหินดาดพื้นตู้ไว้ให้เต็มก็ได้ เพื่อให้ไข่ปลาตกลงมาตามร่องหิน โดยตัวปลาจะแทรกช่องหินลงไปไม่ได้เลย ดังนั้นเป็นต้น

ปลาที่ชอบฝังไข่นั้นต้องการพื้นตู้ที่ดาดด้วยฝอย หรือหญ้าในสภาพคล้ายหนองน้ำเหนือชั้นกรวดขึ้นมา เพื่อให้ปลาสามารถดำลงไปหมกไข่ของมันไว้ได้

ส่วนปลาที่วางไข่ไว้เป็นที่จะหวงไข่และลูกอ่อนของมันมาก เราควรทำซอกหิน หรือหลืบถ้ำไว้ให้มัน จะใช้กระถางเล็กๆไว้ให้มันอาศัยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ก็ได้

ปลาที่ชอบทำรังเตรียมไว้ก่อนมักอาศัยต้นพืชเป็นที่ก่อหวอดโดยการพ่นฟองไว้ที่ผิวน้ำ ดังนั้นตู้ปลาที่ทำไว้สำหรับให้มันผสมพันธุ์จึงควรมีต้นไม้น้ำตบแต่งไว้อย่างดี เพื่ออำนวยที่ให้มันอาศัยก่อหวอดและใช้เศษพืชตบแต่งรังของมันได้

ปลาที่อมลูกไว้ในปากเพื่อความปลอดภัยของลูกต้องการความเงียบสงบ เมื่อมีลูกอ่อนปลาตัวเมียจำพวกนี้จะใช้โพรงปากของมันอมลูกไว้เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ลูกอ่อน ในเวลาเช่นนี้ปลาจะไม่กินอาหารเลย ดังนั้นการให้อาหารปลาจึงไม่บังควรกระทำในตอนนี้ ขอให้มันอยู่อย่างสงบปราศจากการรบกวนใดๆเป็นการเพียงพอ

ปลาที่ออกลูกเป็นตัวนั้นจะออกลูกเป็นตัวอ่อน ซึ่งพออกมาแล้วก็ว่ายน้ำได้เลย สำหรับปลาจำพวกนี้ควรจะแต่งตู้ผสมตู้ผสมพันธุ์ไว้ด้วยพืชโดยให้มีพืชลอยน้ำบ้าง ลูกอ่อนจะอาศัยเป็นที่กำบังได้ตามธรรมชาติวิสัยของมัน