การผสมพันธุ์ปลาในตู้เพาะ

การเลี้ยงปลาในตู้เลี้ยงปลาจะให้ความเพลิดเพลินบันเทิงใจสูงสุดแก่ผู้เลี้ยงในตอนไหนก็ไม่เท่าตอนผสมพันธุ์

การผสมพันธุ์ปลาในตู้เลี้ยงเป็นการผสมพันธุ์ในที่จำกัด ซึงไม่อำนวยที่ทางให้ปลาแยกตัวออกไปหาที่ปลอดภัยได้อย่างเพียงพอ เมื่อลูกอ่อนมาแล้วอาจถูกปลาใหญ่กินเสียก็ได้ เพราะฉะนั้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เราควรมีตู้ปลาไว้สำหรับผสมพันธุ์โดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้ปลาดูแลลูกของมันได้ระยะหนึ่งจนกว่าจะโตพอที่จะอยู่รวมกับปลาอื่นได้อย่างปลอดภัยจึงค่อยปล่อยลงตู้เลี้ยงปลาต่อไป

ระยะของการผสมพันธุ์อาจแบ่งออกได้เป็นสองตอนๆแรกเป็นตอนผสมพันธุ์และตกลูก ตอนที่สองเป็นตอนดูแลลูกอ่อน เราจะช่วยปลาได้ทั้งสองตอนโดยแยกปลาที่จะผสมพันธุ์ไว้ในตู้เพาะอีกตู้หนึ่งต่างหากเสียตั้งแต่ตอนแรก

ปลาที่ออกลูกโดยการวางไข่นั้นมีธรรมชาติวิสัยต่างกันหลายอย่าง บ้างก็ตกไข่ไว้เรี่ยราด บ้างฝังไข่ บ้างวางไข่ไว้เป็นที่ทำรังเตรียมไว้ก่อนก็มี และบ้างก็มีอมลูกไว้ในปาก ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเตรียมตู้ผสมพันธุ์ไว้ให้ถูกกับธรรมชาติของมัน

โรคร้ายแรง

ส่วนโรคร้ายแรงที่เกิดแก่ปลานั้นเป็นโรคภายใน เช่น วัณโรคปลา โรคพยาธิเส้นด้าย และพยาธิตัวแบน โรคเหล่านี้เป็นโรคที่ผู้เลี้ยงปลาจะสังเกตเห็นไม่ได้แต่ต้นมือ กว่าปลาที่เป็นโรคจะแสดงอาการให้เห็นก็ตอนที่เป็นมากเสียแล้วจนไม่อาจรักษาให้หายได้ และการตรวจวินิจฉัยโรคก็เป็นเรื่องของผู้ชำนาญโรคปลาโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำได้โดยการตรวจอวัยวะของปลาที่เป็นโรค ซึ่งมักจะต้องทำด้วยวิธีผ่าดูเท่านั้น โรคประเภทนี้จึงเป็นโรคที่อยู่นอกเครือข่ายที่ผู้เลี้ยงปลาควรรู้ เพราะเมื่อเกิดเป็นขึ้นแล้วก็ไม่มีทางจะรักษาให้หายได้ จึงไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้

ส่วนผสมของน้ำยาแต่ละชนิด

น้ำยาเมทิลีนบลูส่วนผสม 1%

สำหรับอาบนาน ใช้ 1.7 ถึง 3.4 ซีซี ต่อน้ำ 1 แกลลอน หรือ 231 ลูกบาศก์นิ้ว ถ้าใช้น้ำ 1 แกลลอนหลวง คือ 277 ลูกบาศก์นิ้วใช้น้ำยา 2 ถึง 4 ซีซี หรือ 0.4 ถึง 0.8 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร

น้ำยาอคริฟลาวิน 10 มก. ต่อลิตร

สำหรับอาบน้ำนาน ใช้ 10 ซีซี ต่อ 1 แกลลอนหลวง หรือ 2.2 แกลลอนหลวง ต่อลิตร

น้ำยาฟอร์มาลิน 47% ฟอร์แมลดิไฮด์

สำหรับอาบระยะสั้น (ราว 45-50 นาที) ใช้ 1.2 ซีซี ต่อ 1 แกลลอนหลวง หรือ 0.25 ซีซี ต่อ 1 ลิตร

สำหรับอาบน้ำนาน ใช้ 0.3 ซีซี ต่อ 1 แกลลอนหลวง หรือ 0.66 ซีซี ต่อ 1 ลิตร

อนึ่งตัวพยาธินั้นต้องอาศัยตัวปลา ถ้าไม่มีปลาพยาธิจะอยู่ไม่ได้เลย ดังนั้นถ้าเอาปลาที่เป็นโรคลงอาบน้ำยา ควรทิ้งตู้ปลาไว้ว่างเสียสัก 2-3 วัน พยาธิก็จะตายหมด

โรคปลาตามที่ระบุมาข้างบนเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นแพร่หลาย ยังมีโรคบางชนิดที่ไม่สู้จะเกิดแพร่หลายนัก โปรดดูรูปที่นำลงประกอบ

โรคต่างๆและวิธีรักษา

โรคจุดขาว (Ichthyophthiriasis)

เป็นโรคพยาธิที่เป็นแก่ปลามากที่สุด และเอาตรวจวินิจฉัยได้ง่ายที่สุด ปลาที่เป็นโรคนี้จะมีจุดขาวที่ลำตัวแผ่ไปถึงครีบเป็นโรคสืบเนื่องตามธรรมชาติของวัฏจักร คือพยาธิที่ทำให้ปลาเป็นโรคนี้จะออกจากตัวปลาลงไปจับก้อนในถุงตามพื้นตู้ แล้วแตกจากถุงเป็นตัวพยาธิพลุกพล่านไปเข้าสู่ปลาตัวอื่นๆการรักษาอาจทำได้ในระยะพยาธิพลุกพล่านนี้ และต้องทำให้ตู้ปลาเลี้ยงทั้งตู้โดยไม่ต้องแยกปลาป่วยออกไป เพราะพยาธิพลุกพล่านทั่วไปแล้ว ยาที่จะรักษาก็หาได้ง่ายและใช้ง่าย ทั้งให้ผลชะงักด้วย

โรคเชื้อรา (Saprolegnia)

โรคนี้จะทำให้ปลาเกิดอาการด่างเป็นกระจุกขึ้นที่ลำตัวเหมือนปุยสำลี หรือมีเส้นด่างเหมือนเส้นใยแมงมุมหรือเส้นประด้วยฝุ่นผง วิธีรักษาทำให้ผลชะงัดก็คือให้เอาตัวปลาออกลงอาบน้ำเกลือ เกลือที่ใช้นี้ไม่ใช่เกลือแกง ให้ใช้เกลือธรรมชาติผสมน้ำจืดเตรียมไว้อัตราส่วนดังนี้ ถ้าอาบชั่วคราวเพียง ๑๕-๓๐ นาที ใช้เกลือ ๒- ออนซ์ต่อน้ำ ๑ แกลลอน ( ๒๓๑ ลูกบาศก์นิ้ว) ถ้าต้องให้อาบนานใช้เกลือ ๐.๘ ออนซ์ต่อน้ำ ๑ แกลลอน หรือ ออนซ์ต่อน้ำ ๑ แกลลอนหลวง (๒๗๗ ลูกบาศก์นิ้ว)

ข้อที่พึงสังวรคือ โรคเชื้อรานี้มีอาการปรากฏขึ้นที่ปาก เรียกว่า ราปาก โรคราปากนี้เกิดจากแบคทีเรีย ชื่อ Chondrococcus ไม่อาจรักษาให้หายได้ด้วยวิธีอาบน้ำเกลือดังกล่าวแล้ว วิธีรักษษาต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะได้จากสัตว์แพทย์เท่านั้น

โรคตัวสั่น (Shimmying)

ถ้าอยู่ๆปลาก็มีอาการตัวสั่นไหวขึ้นมาโดยปราศจากการเคลื่อนไหวในการว่ายน้ำ ให้พึงเข้าใจว่า อุณหภูมิของน้ำในตู้คงจะลดลง ทำให้ปลาเย็นเยือก วิธีแก้ก็คือให้ปรับอุณหภูมิของน้ำในตู้เสียให้เข้าระดับที่เหมาะสม อาการสั่นไหวของปลาก็จะหายไป

โรคมานน้ำ (Dropsy)

อาการของโรคนี้จะเห็นได้จากการพองตัวของเกล็ดปลา ทำให้เกล็ดปลาถ่างออกจากตัวปลา ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากโพรงเนื้อในตัวปลามีน้ำขังเรียกกันเป็นสามัญว่ามานน้ำ โรคนี้เป็นโรคที่รักษายาก และน้ำที่ขังอยู่ในตัวปลาอาจหลออกจากตัวทำให้เกิดการติดโรคแก่ปลาตัวอื่นได้ ถ้าปลาตัวใดเกิดอาการเช่นว่าให้แยกปลาตัวนั้นออกจากตู้เลี้ยงเสียทันที จนกว่าจะหายจากโรคหรือต้องทำลาย

โรคครีบแหว่ง

โรคนี้เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียที่มักอุบัติขึ้นในน้ำที่ไม่สะอาด ทำให้ปลาเกิดอาการครีบและหางแหว่งในระหว่างเส้นที่ประกอบกันเป็นครีบและหาง บางทีครีบและหางอาจแหว่งไปเพราะความไม่ระมัดระวังในการช้อน หรือถูกปลาอื่นกัด แล้วแบคทีเรียก็เข้าเกาะอาศัยกินครีบและหางให้แหว่งมากขึ้น วิธีบำบัดถ้าท่านสังเกตเห็นปลาเกิดอาการเช่นนี้ให้รีบทำความสะอาดตู้ปลาโดยการเปลี่ยนน้ำเสียโดยเร็ว การใช้ยาอาจช่วยให้ครีบและหางที่แหว่งเป็นปกติได้บ้าง แต่การทำความสะอาดตู้เป็นวิธีที่ดีที่สุด

โรคพยาธิเจาะไช (Gill fiukes and skin flukes)

ถ้าท่านเห็นปลาแถกเหงือกออก หรือเที่ยวเอาเหงือกและตัวถูตามหินหรือต้นไม้น้ำ ให้พึงเข้าใจว่าลากำลังมีพยาธิตัวเล็กๆเจาไช ถ้าเป็นกับเหงือกเรียกว่า Gill fiukes เกิดจากพยาธิตัวแบนเรียกว่า Dactylogyrus เข้าอาศัยเหงือกและเจาะไชทำให้เกิดอาการคัน ถ้าเป็นกับผิวหนังเกิดจากพยาธิจำพวกคล้ายกันเรียกว่า Gyrodactylus ทำให้เกิดอาการคันและสีจาง กำลังของปลาก็อ่อนลง วิธีถ่ายพยาธิออกจากปลาที่เป็นโรคนี้อาจทำได้โดยให้ปลาลงอาบน้ำยาเมทิลีนบลู(methylene blue) ฟอร์มาลีน (Formalin) หรือคริฟลาวิน (acriflavine) แต่ถ้าใช้น้ำยาฟอร์มาลนต้องทำด้วยความระมัดระวังที่สุด เพราะฟอร์มาลินเป็นยาพิษ ต่อไปนี้คือส่วนผสมของน้ำยาแต่ละชนิด

การรักษาโรคปลา

จงให้ยาตามคำแนะนำของหมอหรือสลากยาตามเข้มงวดเพื่อป้องกันการให้ยาเกินขนาด

ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลร้ายแก่พืชประดับตู้ หรืออาจเสื่อคุณภาพเพราะถูกแสงสว่าง ดังนั้นจงแยกปลาป่วยออกไปเสียจากตู้เลี้ยง และอย่าให้ยาถูกแสงสว่าง

ยาบางชนิดทำให้ระดับออกซิเจนลดลง ดังนั้นในระหว่างการรักษาโรคจงเพิ่มอากาศโดยปล่อยพรายน้ำให้มาก

จงถอดแผ่นคาร์บอนออกเสียจากเครื่องกรองน้ำในระหว่างการักษาโรค

อย่าใช้สารเคมี(เช่นยาฆ่าทาก) ทำลายสัตว์น้ำที่อาศัยตามกรวด เพราะถ้าทากซุกซ่อนตัวอยู่ใต้กรวด สารเคมีจะลงไปทำลายตัวทาก ทำให้ทากสลายตัว ก่อให้เกิดน้ำเสียได้ ทั้งจะทำให้เครื่องกรองน้ำใต้กรวดเสียหายด้วย

เกี่ยวกับปลาและสิ่งประดับตู้

จงซื้อแต่ปลาที่ท่านแน่ใจว่าสมบูรณ์ดีเท่านั้น

ถ้าจะนำปลาใหม่มาเพิ่มเติม ควรกักปลาใหม่ไว้สักระยะหนึ่งก่อน แล้วจึงนำลงตู้เลี้ยงรวมกับปลาอื่นๆ

ตรวจพืชพันธ์ไม้น้ำที่จะประดับตู้ อย่าให้มีไข่สัตว์น้ำติด เพื่อให้ปลอดเชื้อ จงล้างพันธุ์ไม้น้ำด้วยโปแตชเซียมเปอร์แมงกาเนตเสียก่อนแล้วจึงเอาลงประดับตู้

หากมีปลาเกิดโรค ให้แยกปลาที่เป็นโรคออกจากตู้เลี้ยงโดยด่วนที่สุด

แนะแนวรักษาสุขภาพปลา

ภาวะแวดล้อม :

อย่าเลี้ยงปลาจำนวนมากเกินไปในตู้เดียวกัน หากมีปลาตัวใดตัวหนึ่งเกิดโรค โรคจะระบาดไปอย่างรวดเร็ว

อย่าเลี้ยงปลาตัวโตไว้ด้วยกันกับตัวเล็ก และในตู้ควรมีที่ให้ปลาได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ

อย่าให้อาหารปลามากเกินควร เพราะอาหารที่เหลือเกินจะทำให้น้ำเสีย

อย่าให้อาหารปลาน้อยเกินควร เพราะปลาที่อดอยากจะเกิดโรคง่าย

อย่าให้อาหารชนิดเดียวจำเจ เพราะอาหารชนิดเดียวอาจขาดวิตามินบางอย่างในการบำรุงปลาให้แข็งแรง

อย่าให้ตู้ปลาของท่านรับสิ่งเป็นพิษได้ เช่นควันบุหรี่ ควันไฟ กลิ่นสี และสเปรย์ เป็นต้น

จงรักษาเครื่องกรองน้ำให้สะอาด และถ่ายเทน้ำในตู้อย่างสม่ำเสมอ

อย่าทำให้ปลาตกใจโดยผลุนผลันเปลี่ยนน้ำหรือสภาพของน้ำโดยแท้

การรักษาโรคปลา

เมื่อปลาตัวใดตัวหนึ่งในตู้เลี้ยงปลาเกิดเป็นโรค หลักปฏิบัติกว้างๆ ต้องแยกปลาตัวนั้นออกจากตู้เลี้ยงเสียทันที เพื่อมิให้โรคติดถึงตัวอื่น แล้วนำปลาที่เป็นโรคนั้นลงตู้กักปลา หรือตู้ปลาพยาบาล เพื่อทำการบำบัดรักษาต่อไป แต่การที่จะรักษาโรคปลาให้ได้ผล เราจะต้องตรวจวินิจฉัยให้รู้ว่าปลาเป็นโรคอะไรเสียก่อน

ความผิดปกติที่เกิดแก่ปลาในชั้นต้นได้แก่การมีเมือกมากเกินไป อาการเช่นนี้จะบอกให้รู้ได้ว่า มีสิ่งผิดปกติเกิดแก่ปลาขึ้นแล้ว การที่ปลาเกิดเมือกมากเกินไปอาจเป็นเพราะมีบาดแผลเกิดขึ้น ทำให้ปลาขับเมือกออกมากเพื่อสมานบาดแผลก็ได้ หรือเมือกอาจเกิดเองเพื่อกำบังตัวพยาธิที่อาศัยตัวปลาก็ได้ ถ้าเป็นประการหลังให้ดูว่า ปลาจะมีอาการต่อไปเช่นไรบ้าง ดังได้จาระไนไว้ในหัวข้อโรคต่างๆและวิธีการรักษาในหน้าต่อนี้แล้ว

การบำบัดรักษาโดยทั่วๆ ไป มีการให้ยาและอาบน้ำยาเป็นหลัก ข้อที่ควรตระหนักในที่นี้ก็คือ การอาบน้ำยามีทั้งวิธีอาบชั่วระยะสั้น เพียงไม่กี่นาที และวิธีอาบระยะยาวซึ่งใช้เวลานานจนกว่าน้ำยาจะอ่อนฤทธิ์ หรือโรคจะหาย การอาบระยะยาวนี้ต้องใช้ยาอ่อน สูตรการผสมน้ำยานั้นได้ให้ไว้แล้วในหัวข้อโรคต่างๆ เช่นกัน ส่วนการให้ยาก็ต้องละลายน้ำก่อนเสมอและต้องให้ตามสูตรที่แจ้งไว้ในรายการสั่ง ในบางกรณีการให้ยาอาจทำได้โดยการให้อาหารตามปกติ โดยเอาอาหารเกลือกยาเสียก่อน แต่วิธีนี้ให้ผลไม่สู้แน่นอนนัก เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าอาหารจะได้ยาสักเท่าใด

ในระหว่างการบำบัดรักษา ถ้าเป็นการรักษาภายในตู้เลี้ยงควรเอาแผ่นคาร์บอนในเครื่องกรองน้ำออกเสีย เพราะคาร์บอนจะดูดยาไว้ทำให้ยาไม่เกิดผล และในระหว่างการบำบัดรักษาออกซิเจนในน้ำอาจน้อยลงด้วยฤทธิ์ยา ฉะนั้นจึงควรสูบอากาศเข้าไปในน้ำให้มาก พืชบางชนิดก็อาจได้รับผลเสียจากยาได้ ฉะนั้นถ้าการบำบัดรักษากระทำภายในตู้เลี้ยง เมื่อพ้นกำหนดแล้วควรจัดการเปลี่ยนพืชในตู้เสียด้วย

การป้องกันและรักษาโรคปลา

ปลาที่เราเลี้ยงไว้ในตู้อาจเป็นโรคได้โดยที่เราไม่ได้นึกฝันและการที่ปลาเกิดโรคนั้น เราก็มักจะคิดเสียว่าไม่ร้ายแรง เหมือนคนเป็นหวัดธรรมดาเท่านั้น ต่อเมื่อปลาตายไปนั่นแหละ เราจึงจะคิดแก้ไขกัน แต่ก็สายเสียแล้ว เมื่อปลาในตู้ตายไปตัวหนึ่งตัวอื่นๆ ก็มักจะพลอยตายไปด้วย เหมือนเกิดโรคระบาด ฉะนั้น

ในการเลี้ยงปลาตู้มีข้อที่ท่านควรคำนึงอยู่เสมอข้อหนึ่งว่าปลาในตู้ของท่านอาจเป็นโรคได้ไม่ในเวลาใดก็เวลาหนึ่ง เพราะฉะนั้นขออย่าได้ประมาทว่าปลาของท่านจะไม่เป็นโรค ความที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นเพียงความรู้กว้างๆ เท่านั้น แต่ผู้เลี้ยงปลาควรจะทำความเข้าใจให้ดีว่า เมื่อปลาของท่านเกิดโรคขึ้นแล้วอย่านอนใจ ให้รีบจัดการแยกปลาที่เป็นโรคออกจากตู้เลี้ยงเสียทันที โดยเอาปลาที่เป็นโรคเข้าตู้พยาบาลและจัดการเยียวยารักษาเสีย โรคเกือบทุกชนิดที่เกิดแก่ปลานั้นอาจรักษาได้ ข้อสำคัญขอให้เอาใจใส่เรื่องความสะอาดในตู้ปลาของท่านเป็นอย่างดีจะช่วยป้องกันโรคปลาได้มาก เพราะโรคปลานั้นบางทีก็เกิดจากความไม่สะอาดในตู้ปลาของท่านนั่นเอง เมื่อปลาเกิดโรคขึ้นตัวหนึ่ง ความนิ่งนอนใจของท่านก็จะทำให้ตัวอื่นติดโรคด้วย

เพื่อป้องกันการระบาดของโรคปลา ท่านควรจะมีตู้สำรองอีกตู้หนึ่งไว้สำหรับกักปลา และอาจใช้เป็นตู้พยาบาลปลาไปด้วยก็ได้ กล่าวคือ เมื่อท่านซื้อปลาใหม่มา อย่าเพิ่งเอาลงตู้เลี้ยงทันที ควรจะเอาลงตู้กักไว้สักระยะหนึ่งก่อน เพื่อดูว่าปลานั้นจะมีโรคอะไรหรือไม่ ถึงพืชน้ำก็เหมือนกัน ถ้าจะเอามาไว้ในตู้เลี้ยงก็ต้องดูก่อนว่าจะมีสิ่งแอบแฝงที่จะที่จะนำโรคมาให้หรือไม่ตู้กักปลานี้ไม่จำเป็นต้องตกแต่งอะไรให้พิสดารเหมือนตู้เลี้ยงเพียงแต่มีหินสักสองสามก้อนก็พอ เพื่อให้ปลารู้สึกสบายเท่านั้น ระยะเวลาที่กักก็ควรจะเป็นสักสองหรือสามสัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะที่โรคจะสำแดงอาการ ถ้าปลานั้นมีโรคอะไรติดมาตลอดระยะนี้ท่านควรเฝ้าดูอย่างพิถีพิถันว่าปลาจะเกิดมีจุดหรือฝ้า ฯลฯ ขึ้นตามส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวปลาหรือไม่ หากมีอาการโรคปลาปรากฏให้เห็น ท่านก็จะได้ใช้ตู้นั้นเป็นตู้พยาบาล จัดการบำบัดเยียวยาได้ในตัว

สำหรับพันธ์ไม้น้ำที่จะใช้ประดับตู้ เมื่อจะใช้พืชชนิดใดก็ควรตรวจดูเสียก่อน แม้ว่าพืชจะไม่มีอาการโรคปรากฏให้เห็นได้อย่างปลา แต่ก็อาจมีสิ่ง แปลกปลอมโดยสารพืชนั้นอยู่ด้วย เช่น ไข่พยาธิ และไข่ทาก เป็นต้น ซึ่งจะเป็นอันตรายแก่ปลาได้ ทางที่ดีถ้าท่านจะใช้พืชชนิดใดแต่งตู้ ควรล้างพืชนั้นในน้ำยาโปแตสเซียมเปอร์แมงกาเนตผสมอ่อนๆ เพื่อทำลายสิ่งมีชีวิตที่ติดมากับพืชเสียก่อน จึงจะปลอดภัย

อนึ่งถ้าท่านใช้ตู้หลายใบ ไม่ว่าจะเป็นตู้เลี้ยงปลา ตู้กัก และตู้พยาบาล ท่านควรมีสวิงหรือตาข่ายของใครของมัน อย่าใช้สวิงหรือตาข่ายสำรวม เพราะอาจพาเชื้อโรคจากตู้หนึ่งไปยังอีกตู้หนึ่งได้ และการถ่ายน้ำจากตู้หนึ่งไปลงอีกตู้หนึ่งก็ไม่ควรกระทำด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน

ควันบุหรี่ ควันไฟ กลิ่นสเปรย์ กลิ่นสี หรือน้ำมันชักเงาเครื่องแต่งบ้าน เหล่านี้อาจทำให้น้ำในตู้เลี้ยงปลาเสียได้เหมือนกัน เครื่องสูบอากาศเข้าไปในตู้จะสูบสิ่งเหล่านี้เข้าไปด้วย โลหะและซีเมนต์ก็อาจทำให้น้ำเสียได้ ส่วนผสมไนเตรทมีแอมโมเนียเป็นต้น สำหรับใช้ในเครื่องกรองน้ำทางชีวภาพนั้น ควรจะใช้แต่น้อยที่สุด และการเปลี่ยนน้ำก็ควรทำเป็นประจำดังกล่าวแล้วข้างต้น

ทั้งๆที่อาหารปลาสำเร็จรูปก็ประกอบด้วยคุณภาพสูงอยู่แล้ว การให้ปลาอย่างอื่น เช่น ลูกน้ำ ก็ควรจะทำบ้างเพื่อมิให้ปลาเกิดรู้สึกจำเจและเพื่อป้องกันการขาดวิตามินบางชนิดด้วย

การฝากฝังการดูแล

ถ้าท่านจำเป็นต้องจากที่อยู่ไปนาน ๆ เช่นในการไปพักแรมในที่อื่น หรือในการแปรสถาน หากท่านมีผู้ดูแลแทนที่เหมาะสมก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ขอแต่อย่าให้ปฏิบัติการในเรื่องการให้อาหารอย่างถูกต้องเท่านั้น คืออย่าให้อาหารปลาที่ละมากๆ เกินควร แต่ความจริงถ้าท่านเพียงแต่จากบ้านไปชั่ว 2-3 วัน หรือสัปดาห์หนึ่งเป็นอย่างมาก ท่านไม่จำเป็นต้องฝากฝังความดูแลก็ได้เพราะถ้าปลาได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดีเป็นสัปดาห์ๆ ตลอดมาจนถึงวันที่ท่านจำเป็นต้องไป ปลาจะอยู่ได้โดยไม่กินอาหารและไม่ได้รับแสงสว่างเลยเป็นเวลาถึงหนึ่งสัปดาห์หรือกว่านั้น แต่ถ้ามีใครรับดูแลแทน ท่านจะต้องกำชับในการให้อาหารตามที่ท่านเคยปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ภารกิจในการอารักขาบำรุง

การอารักขาบำรุงปลาเลี้ยงของท่านไม่ใช่ภารกิจหนักหนาอะไรเลย เพียงแต่ใช้เวลาวันละไม่กี่นาที รวมเวลาอย่างมากก็เพียงเดือนละหนึ่งหรือสองชั่วโมงเท่านั้น เป็นภารกิจที่อาจทำได้ในเวลาเฝ้าชมปลาของท่านตามปกติด้วยซ้ำ หรือจะทำในเวลาให้อาหารปลาก็ได้ ทุกคราวที่ให้อาหารปลาท่านควรจะดูว่าปลาอยู่กันพร้อมหน้าหรือไม่ ถ้าเกิดมีปลาตัวใดตัวหนึ่งหายหน้าไป ต้องหามันให้พบเสียทันที เพราะหากปลาตัวที่หายไปมีอาการผิดปกติก็จะได้แก้ไข และถ้ามันหายไปเพราะตายลงเสียแล้ว จะได้เอาออกเสียจากตู้ เพราะปลาตายจะทำให้น้ำเสีย หรือแพร่โรคไปถึงตัวอื่นๆ

การดูเทอร์โมมิเตอร์ในตู้ ดูว่าเครื่องจ่ายและปรับความร้อนตลอดจนระบบกรองน้ำทำงานปกติหรือไม่ เป็นภารกิจง่ายๆ ที่ควรจะทำทุกวัน ถ้าฉวยมีอะไรผิดปกติก็จงปรับเสียให้เป็นปกติ หลอดไฟที่ขาดก็ควรจะจัดการเปลี่ยนหลอดเสียใหม่

ไส้กรองน้ำอาจเปลี่ยนได้ตามความจำเป็น ขึ้นอยู่กับความสกปรกของน้ำ หรือนิสัยของปลา อย่างน้อยควรเปลี่ยนใหม่ทุกสองถึงสี่สัปดาห์ เวลาปรับเครื่องกรองน้ำที่ใช้กำลังไฟฟ้า อย่าลืมขันและตรวจท่อต่อให้แน่น ใบไม้ที่เฉาตายในน้ำควรจะเอาออก ตะไคร่ที่กระจกในตู้ตอนที่อยู่ด้านหลังจะปล่อยทิ้งไว้ก็ได้ เพื่อประโยชน์ของพันธุ์ไม้น้ำในตู้

การเปลี่ยนน้ำราว 20-25% ของน้ำในตู้ควรทำทุกเดือนโดยเอาน้ำเก่าออกไปแล้วเอาน้ำใหม่ที่มีอุณหภูมิเท่าน้ำเก่าใส่ลงไปแทน วิธีถ่ายน้ำให้ปฏิบัติอย่างเกี่ยวกับการเติมน้ำ คืออย่าถ่ายฮวบฮาบ ให้ค่อย ๆ เอาออกและเอาเข้า การทำความสะอาดตู้ควรจะทำในตอนนี้ เช่นเช็ดตู้และเอาการลักน้ำดูดสิ่งสกปรกออกไปเสียจากพื้นตู้ เครื่องเป่าอากาศในตู้อาจจะตันทำให้พรายน้ำไม่ผุดก็ควรเกลี่ยพื้นกรวดในตู้เสียงบ้าง เพื่อให้เครื่องกรองทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น

อาหารเป็นๆ สำหรับปลา

นอกจากอาหารสำเร็จรูปที่กล่าวมาแล้ว ปลาชอบกินอาหารเป็นๆ หลายชนิด เรามักรู้จักกันแต่ลูกน้ำของยุงและไรน้ำเท่านั้น แต่ความจริงยังมีสิ่งที่เป็นอาหารปลาอีกหลายชนิด ซึ่งเราอาจซ้อนหรือหาได้ตามสระ หรืออาจเพาะเลี้ยงไว้ด้วยก็ได้ ไส้เดือนในดินตัวเล็กๆ ก็เป็นอาหารที่ปลาชอบเหมือนกัน แต่ไม่ควรคุ้ยเอาขึ้นจากดินที่เขาโปรยหรือหว่านยาปราบวัชพืชไว้แล้ว

สัตว์น้ำตัวเล็กๆ ชนิดที่มีเปลือกหุ้ม ก็เป็นอาหารปลาได้เหมือนกัน แต่ไม่ควรจะให้ปลาตู้กิน เพราะอาจมีโรค และอาจมีศัตรูของปลาแอบแฝงอยู่ เช่นตัวอ่อนของปลิง ทาก หรือแมลงปอติดอยู่ที่เปลือก เป็นต้น จึงไม่ควรเอามาให้ปลากิน หรือ ถ้าจะให้กินก็ต้องใช้ความระมัดระวังตรวจดูอย่างพิถีพิถันที่สุดอย่าให้กินเสียเลยแหละดี

ส่วนลูกน้ำของยุงและไรน้ำอาจช้อนเอาขึ้นจากน้ำที่ไหนก็ได้ เมื่อเอามาปล่อยไว้ในน้ำที่สะอาดแล้ว ก็อาจเป็นอาหารปลาตู้ของท่านได้อย่างวิเศษ หนอนแดง (bloodworm) และกั้งฝอย (brine shrimp) ก็เป็นอาหารที่ปลาชอบ แต่ควรเลี้ยงไว้ในน้ำสะอาดปลอดจากเชื้อโรคเสียก่อน ไข่กั้งนั้นเก็บไว้ได้นาน ถ้าจะให้ปลากินก็เอาจุ่มน้ำเกลือ ไข่จะแตกเป็นตัว ปลอดจากโรค ใช้เลี้ยงลูกปลาได้ดีมาก

ให้อาหารแต่พอกิน

แม้ว่าอาหารที่ผลิตออกจำหน่ายในท้องตลาดจะเป็นชนิดดีมีคุณค่าควรแก่การใช้เลี้ยงปลาก็ดี แต่การเลี้ยงอาหารชนิดเดียวจำเจก็อาจทำให้ปลาเบื่ออาหารชนิดนั้นและไม่แยแสต่ออาหารที่ให้อย่างจำเจได้ อันตรายที่สำคัญก็คือการให้อาหารเกินขนาด ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะทำให้ปลาอ้วนเหมือนคนที่กินจุ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า การให้อาหารจำเจก็ดี การให้อาหารเกินขนาดก็ดีจะทำให้อาหารเหลือกิน หรือเกิดอาการตกค้างเหล่านี้จะลงไปนอนก้นตู้ ทำให้เกิดน้ำเสียจนจำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำใหม่และเปลี่ยนก็ตบแต่งตู้ปลาแบบใหม่อีก

หลักสำคัญคือการควรให้อาหารแต่พอกิน โดยควรให้ทีละน้อยแต่บ่อยๆ เพื่อให้ปลากินหมดภายในเวลาไม่กี่นาที มิให้มีอาการเหลือ และถ้าให้เป็นชนิดต่างๆ กันได้ก็ดี ถ้าท่านมีคนอื่นในครอบครัวคอยให้อาหารกันหลายคน เวลาท่านให้อาหารปลาแล้ว ควรบอกให้เขารู้เสีย เพื่อเขาจะได้ไม่ต้องให้อีกในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งจะทำให้เกิดอาหารเหลือกินขึ้น เมื่อให้อาหารในตอนเช้าแล้วตอนต่อไปก็ควรจะเป็นตอนกลางวันหรือเที่ยง หลังจากนั้นก็ควรจะเป็นตอนเย็นและกลางคืน โดยให้แต่เพียงทีละน้อยๆ เท่านั้น การให้อาหารมื้อสุดท้ายควรจะเป็นตอนกลางคืนก่อนดับไฟนอน ซึ่งปลาที่มีนิสัยออกกลางคืนจะได้กินด้วย

การให้อาหารและการบำรุง

เราได้เห็นกันมาแล้วว่า ปลาปรับตัวให้เข้ากับภาวะแวดล้อมด้วยวิธีวิวัฒนาการทางธรรมชาติอย่างไร เช่นในรูปลักษณะของปาก ลำตัว และครีบ เป็นต้น และเราได้ศึกษากันมาแล้วว่า เราจะรักษาความสะอาดของน้ำในตู้ปลาด้วยระบบกรองน้ำและอาศัยพืชพันธุ์ไม้น้ำอย่างไร แต่สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในตู้ปลาก็มิได้เป็นอย่างเดียวกับในธรรมชาติ ผู้เลี้ยงปลาตู้จึงจำเป็นต้องเอาใจใส่เรื่องอื่นๆ อีกในการที่จะบำรุงเลี้ยงปลาให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุดถึงแม้จะทำตู้ปลาให้เป็นไปตามธรรมชาติไม่ได้ เราก็อาจหาสิ่งที่จะใช้แทนธรรมชาติได้เหมือนกัน

เรื่องแรกและสำคัญที่สุดก็คือเรื่องอาหาร เรารู้กันมาว่าลูกน้ำ,ไรน้ำและแมลงบางชนิดเป็นอาหารของปลาทั่วไป แต่ปลาต่างชนิดก็ต่างชอบอาหารที่ผิดกันไป บางชนิดชอบกินลูกน้ำ บางชนิดชอบกินพืชเช่นตะไคร่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ปลาอะไรชอบกินอาหารจำพวกไหน ในปัจจุบันปัญหานี้ไม่น่าวิตกแล้วเพราะการวิจัยเรื่องนี้ตามหลักวิชาได้กระทำมานานปีจนถึงขั้นที่มีอาหารปลาชนิดต่างๆ ขายกันในท้องตลาดอย่างกว้างขวางแล้ว

อาหารปลาแบบทันสมัยที่มีขายตามท้องตลาดปัจจุบันมีในรูปลักษณะต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำหรับปลาที่ชอบกินสัตว์หรือกินพืช เป็นเกร็ดบ้าง เป็นเม็ดบ้าง เป็นน้ำบ้าง เป็นผงก็มี ตลอดจนเป็นก้อนก็มี อาหารเหล่านี้ทำขึ้นเพื่อให้เหมาะแก่นิสัยของปลาที่ชอบกินอาหารต่างกัน และเพื่อให้เหมาะสำหรับใช้เลี้ยงปลาตลอดชีวิตของมันด้วย นับตั้งแต่ตัวอ่อน ซึ่งจำเป็นต้องกินอาหารขนาดเล็กมาก ไปจนกระทั่งตัวโต ซึ่งสามารถกินอาหารขนาดใหญ่ๆ ได้อย่างสบาย

สีบอกเพศ

ความเข้มของสีมักจะมีมากขึ้นในปลาตัวผู้ในระยะผสมพันธุ์ ทั้งนี้เพื่อให้สะดุดตาตัวเมีย และล่อตัวเมียให้เข้าหา หรือเป็นสัญญาณในตัวเมียยอมเคล้าเคลียด้วย แม้ปลาตัวเมียบางชนิดในตระกูลชิคลิดก็อาจเสริมความเข้มของสีตัวเองได้ เพื่อให้ลูกที่ออกมาจำตัวที่เป็นแม่ได้

การกำหนดเพศของปลาในเวลาเลือกซื้อนี้ไม่อยาก เราอาจรู้เพศของปลาที่ออกปลูกเป็นตัวได้โดยดูที่ครีบทวาร ซึ่งของตัวเมียจะมีลักษณะผิดกับตัวผู้ โดยครีบตัวผู้จะมีรูปย้วยกว่าครีบตัวเมีย ส่วนในปลาที่ออกลูกเป็นไข่ ตัวผู้จะมีตัวเรียวกว่าและมีสีสันเข้มกว่าตัวเมีย ทั้งมักจะมีครีบเจริญกว่า เห็นได้ถนัดตากว่าตัวเมียด้วย เช่น ในปลาครีบใบเรือ เป็นต้น

กายวิภาคพื้นฐานของปลา

ความรู้ในกายวิภาคของปลาจะช่วยให้ผู้เลี้ยงเข้าใจ

พฤติกรรมของปลาและหาความรู้เรื่องปลาได้สะดวก

ประสาทรู้สึกของปลา

ปลามีประสารทรู้สึกทั้งห้าเยี่ยงคนและสัตว์โลกอื่นๆ เหมือนกัน คือ สามารถเห็น สัมผัส รู้รส ได้กลิ่น และได้ยิน เฉพาะในสองประการหลังปลามีความสามารถสูงยิ่งกว่าคนเราเสียอีกมีปลาหลายชนิดสามารถได้กลิ่นอาหารในระยะไกลทีเดียว โดยที่คนไม่อาจได้กลิ่นเช่นนั้นได้เลย จมูกปลานั้นหาได้มีไว้สำหรับหายใจไม่ เพราะมันหายใจทางเหงือกใต้ฝาปิดที่หัวอย่างเดียว มันใช้จมูกเพื่อประโยชน์ในการรับกลิ่นเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ในการหายใจอย่างคน

ส่วนในการที่จะรับฟังเสียงต่างๆ นั้น ปลามีประสาทรับเสียงอยู่ที่เส้นที่แล่นตลอดข้างตัวเป็นร่องแฝงอยู่ในเกร็ด ประกอบด้วยใยประสาทสามารถรับความสั่นสะเทือนในน้ำได้แม้เพียงเล็กน้อย ประสาทนี้จะช่วยให้ปลา ได้ยิน และรู้ลักษณะของความสั่นสะเทือนนั้นได้ ว่าเป็นความสั่นสะเทือนที่ให้ประโยชน์หรือเป็นภัยแก่มัน

ปลาบางชนิดยังมีเครื่องช่วยในการอยู่ในที่มืดหรือในน้ำขุ่นด้วย รวมทั้งอาจผลิตกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ได้ในตัว และอาจส่งกระแสไฟฟ้าออกไปทำให้ศัตรูและเหยื่อตกใจได้ด้วย

อะไรทำให้ปลาลอยตัวอยู่ในน้ำได้ไม่ว่าในระดับใด? นักมีนวิทยาค้นพบว่าสิ่งนั้นคืออวัยวะส่วนที่เรียกว่า กระเพาะว่ายน้ำอยู่ในท้อง เป็นอวัยวะที่ช่วยพยุงตัวปลาให้เกิดความเบา คือมีความแน่นเป็นกลางเสมอด้วยความแน่นของน้ำในระดับนั้นๆ ปลาจึงสามารถลอยน้ำได้ทุกระดับ

ครีบ

ปลาใช้ครีบเพื่อทรงตัวและเคลื่อนไหว และในบางกรณีก็ใช้เป็นเครื่องช่วยการออกไข่ด้วย ซึ่งอาจเป็นตอนผสมพันธุ์หรือตอนฟักไข่เป็นตัวก็ได้ ครีบอาจมีทั้งชนิดครีบเดี่ยวหรือครีบคู่ และทำหน้าที่แตกต่างกันดังนี้

ครีบหาง เป็นครีบบังคับทางที่ปลาพุ่งไปในน้ำ ปลาที่ว่ายน้ำเร็วจะมีครีบหางเป็นปากซ่อมลึก ปลาชนิดหนึ่งเรียกว่าปลาหางดาบมีครีบหางยื่นยาวออกไปทางตอนปลายด้านล่างของครีบเหมือนดาบ

ครีบหลัง ครีบหลังของปลาอาจตั้งสูงและแผ่ลงเหมือนใบเรือ เช่นครีบของปลาที่เรียนว่า ปลาครีบเรือใบ เป็นต้น ทางหรือริ้วของครีบมีทั้งอ่อนและแข็ง ปลาบางชนิดอาจมีครีบหลังสองครีบเรียงกัน แต่อย่าเอาไปปนกับครีบไขมัน ซึ่งอยู่ทางโคนหางในปลาบางชนิด ครีบไขมันนี้ตามปกติเป็นเยื่อไขมันโผล่ออกมาในระหว่างครีบหางและครีบหลัง จะพบได้ในปลาบางชนิดเท่านั้น

ครีบทวาร ครีบทวารเป็นครีบเดี่ยวอยู่ใต้ตัวปลาถัดจากครีบหางออกมาข้างหน้าเล็กน้อย มีหน้าที่ส่วนใหญ่เพื่อการทรงตัวและปลาตัวผู้บางชนิดอาจใช้เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ด้วย

ครีบท้อง เป็นครีบคู่ข้างหน้าครีบทวาร ครีบท้องในปลาบางชนิดเป็นเส้นยาว ใช้สำหรับสำรวจภาวะแวดล้อม ปลาเทวดาก็มีครีบท้องเป็นเส้นยาวเหมือนกัน แต่หาได้ใช้ประโยชน์เช่นนั้นไม่ เป็นสิ่งประกอบความสวยงามมากกว่าเพราะไม่มีเซลประสาทอยู่ด้วย ส่วนปลาบางชนิดใช้ครีบท้องพาไข่ไปยังที่วางไข่และบางชนิดก็ใช้ครีบท้องประกอบกันต่างสมอยึดก้นน้ำเพื่อป้องกันกระแสน้ำพัด

ครีบอก เป็นครีบที่ยื่นออกจากตอนล่างของฝาเหงือก ทำหน้าที่เสริมความคล่องแคล่วในการเคลื่อนไหวเป็นส่วนใหญ่

เกล็ดปลา

เกล็ดปลามีทั้งชนิดแข็งและอ่อน ซึ่งไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายแก่ตัวปลาเท่านั้น หากยังเป็นเครื่องรับแรงดันของอากาศด้วย เพราะฉะนั้นถ้าตัวปลามีรอยหวำก็แปลว่าแรงดันของอากาศภายในผิดปกติ แสดงว่าปลานั้นเป็นโรค

รูปลักษณะอวัยวะปลา

ปลาไม่มีรูปลักษณะเพรียวยาวเหมือนกันทุกตัว บางชนิดก็มีลำตัวป้อม สั้น บางชนิดตัวกลม ทั้งนี้สุดแต่นิสัยความเป็นอยู่และการเลี้ยงชีพของมันปลาที่มีลำตัวเพรียวยาวนั้นส่อถึงการว่ายน้ำเร็ว ปลาพวกนี้มักมีครีบใหญ่ และมีปากมีฟันซี่โต เป็นปลาที่ชอบหากินในที่โล่ง ส่วนปลาเทวดามีลำตัวแบนรูปสี่เหลี่ยม ว่ายน้ำได้อย่างเชื่องช้า ชอบอาศัยอยู่ตามพงอ้อหรือกอหญ้าใต้น้ำ

ลักษณะปากของปลามักจะบอกถึงระดับของน้ำที่ปลาอยู่อาศัยโดยทั่วๆ ไป กล่าวคือ ปลาที่มีปากแหงนแสดงว่า ปลาชนิดนั้นอาศัยอยู่ในชั้นใต้พื้นน้ำเพียงเล็กน้อย เพราะต้องลอยตัวคอยกินแมลงตามผิวน้ำ ปลาจำพวกนี้ตามปกติมีครีบหลังตรงพื้นครีบไม่โก่งงอ ปากของปลาจำพวกที่อยู่ในน้ำระดับกลางๆ นั้นมักยื่นตรงตามทางนอนในแนวเดียวกันกับกึ่งกลางลำตัวเพราะปลาจำพวกนี้จะงับกินแต่อาหารที่ตกถึงมันเป็นส่วนใหญ่แม้ว่ามันอาจขึ้นกินอาหารหรือดำลงกินที่ก้นน้ำได้ก็ดี แต่ปลาจำพวกที่มีปากห้อยนั้นชอบอยู่กับก้นน้ำเพราะกินอาหารที่ก้นน้ำเป็นพื้น ปลาจำพวกนี้ชอบแถกกินตะไคร่ตามพื้นดิน และถ้าอยู่ในตู้ปลามันอาจไม่ลงถึงก้นตู้ก็ได้ แต่ชอบแอบข้างตู้เพื่อไถตะไคร่ตามตู้กิน ปลาจำพวกที่อยู่ก้นน้ำเป็นพื้นมักมีหนวดด้วยเพราะหนวดจะให้ประโยชน์แก่มันในการคลำหาอาหารให้รู้ว่าอาหารอยู่ตรงไหน

การพาปลาและปล่อยปลาลงอ่าง

ตากปกติการพาปลาจากที่ซื้อไปถึงบ้านของท่านมักใส่ถุงพลาสติกไป แต่ก่อนเคยใช้ใบบัวหรือใบบอนขนาดใหญ่ห่อน้ำใส่ปลาไป แต่เดี๋ยวนี้ใบบัวหรือใบบอนหายาก ถุงพลาสติกที่ใส่ปลานั้นต้องมีโป่งบรรจุอากาศเหนือพื้นน้ำพอสมควร ถ้าท่านซื้อปลาในฤดูหนาว กว่าปลาจะไปถึงบ้านท่าน น้ำในถุงอาจเย็นลง ดังนั้นจึงควรเอากระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มถุงไว้เสียสัก 2-3 ชั้น เพื่อมิให้อากาศภายนอกกระทบถุงพลาสติกทำให้น้ำเย็นลงโดยเร็วได้ หรือถ้าจะให้ดีควรเอาถุงไว้ในกล่องกระดาษแข็งที่อากาศเข้าไม่ได้ก็จะปลอดภัยดี

เมื่อไปถึงบ้านแล้ว อย่าเพิ่งปล่อยปลาลงอ่างทันที เพราะน้ำในถุงกับน้ำในตู้เลี้ยงปลาของท่านอาจมีอุณหภูมิต่างกัน ถ้าปล่อยปลาลงในตู้ของท่านทันที น้ำในตู้จะกระทบความรู้สึกของปลา ทำให้ปลาตกใจได้ ถ้าอุณหภูมิของน้ำในถุงกับในอ่างใกล้เคียงกันก็ไม่เป็นไร เพราะฉะนั้นก่อนจะนำปลาลงอ่าง ท่านต้องแน่ใจเสียก่อนว่าน้ำในถุงกับในอ่างมีอุณหภูมิใกล้เคียงกันวิธีนี้ไม่ยาก เพียงแต่เราเอาถุงปลาลอยแช่ไว้ในอ่างสักประเดี๋ยวอุณหภูมิของน้ำจะได้ระดับเดียวกัน แล้วค่อยแก้ถุงออกปล่อยปลา บางคนอาจใช้วิธีถ่ายน้ำในอ่างผสมลงถุงเสียก่อนหลายๆ ครั้งจนกว่าอุณหภูมิจะอยู่ในระดับเสมอกันกับน้ำในตู้ วิธีนี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน

เวลาถ่ายปลาลงในตู้ของท่านให้ค่อยๆ ทำด้วยอาการสงบที่สุดเท่าที่จะทำได้ และถ้าปิดดวงไฟที่ตู้ปลาเสียก่อนได้ก็จะดีใช้แต่แสงสว่างในห้องเท่านั้นก็พอ เพื่อปลาจะได้คุ้นกับภาวะแวดล้อมใหม่โดยง่าย ถ้าตู้ปลาสว่างมากเกินไปปลาอาจตกใจในแสงสว่างนั้นก็ได้ ต่อเมื่อปลาคุ้นที่ดีแล้วท่านจึงค่อยเปิดไฟ

ถ้าท่านนำปลามาปล่อยในตู้ที่มีปลาอื่นๆ อยู่แล้ว ควรใช้อาหารล่อปลาเจ้าของถิ่นไม่ให้สนใจกับปลาตัวใหม่มากนักเสียก่อนมิฉะนั้นปลาใหม่จะตื่น และอาจว่ายหนีไปหาที่ซุกซ่อนตัว ในกรณีนี้ท่านควรดูว่าในตู้ของท่านมีที่ให้ปลาใหม่ซุกซ่อนตัวได้อย่างเพียงพอเสียก่อน เมื่อปลาใหม่คุ้นที่ดีแล้วมันก็จะออกมา สังคมกับปลาเก่าเอง

ในการเลือกหาปลาเพื่อเลี้ยงนั้น ท่านควรจะมีความรู้ในรูปลักษณะของปลาพอสมควร ซึ่งจะช่วยในการเลือกของท่านได้มาก เราจะได้พูดเรื่องนี้กันต่อไปในบทหน้า

วิธีสังเกตปลา

ต่อไปนี้จะพูดถึงวิธีการสังเกตว่า ปลาที่ท่านจะซื้อสมบูรณ์ดีหรือไม่

ปลาน้ำจืดส่วนใหญ่ถ้าสมบูรณ์ดีไม่มีโรคจะมีครีบหลังตั้งขึ้นเสมอในขณะว่ายน้ำ ถ้าปลาตัวใดว่ายน้ำโดยมีครีบตกแสดงว่ากำลังเป็นโรค ถัดจากนี้ก็ดูที่ตัวปลา ปลาที่สมบูรณ์ดีควรจะมีตัวอิ่มเต็ม ครีบหลังไม่แตก หรือพื้นตัวไม่หวำ สีควรจะเข้ม ถ้าเป็นปลามีลายสี หรือมีแต้ม ลายสีและแต้มควรจะเด่นไม่มีลายและแต้มที่พร่ามัว เวลาว่ายน้ำควรจะกระปรี้กระเปร่าคล่องแคล่ว ไม่มีอาการแกว่งเขว

อนึ่งปลาที่สมบูรณ์นั้นควรจะสามารถลอยตัวอยู่ในน้ำลึกแคไหนก็แค่นั้นได้โดยปราศจากอาการทะลึ่งขึ้นสู่ฟื้นน้ำ หรือจมดิ่งลงสู่ก้นอ่างในลักษณะที่ไม่ได้ขยับตัว

ปลาที่มีลักษณะบกพร่องดังกล่าวรวมทั้งปลาที่มีครีบหางขาดและมีจุดที่แสดงว่าเป็นแผล อย่าซื้อ!!

ปลาสามประเภท

ด้วยเหตุนี้ก่อนที่จะซื้อปลา เราควรมีความรู้ในประเภทของปลาตามสมควร กล่าวคือ ปลาที่เลี้ยงกันตามตู้เลี้ยงปลาทั่วไปแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ สามประเภท ดังนี้

8. ปลาที่ชอบรวมกลุ่มกันอยู่ ในประเภทนี้มีปลาหางนกยูง ปลาเทวดา ปลาหางดาบ และปลาม้าลาย เป็นต้น เวลาซื้อปลาประเภทนี้ ไม่ควรซื้อเพียงสองตัว ควรซื้อมาเลี้ยงตั้งแต่ 5-6 ตัวขึ้นไป เพื่อมันจะโตเป็นเพื่อนกัน

9. ปลาที่ชอบอยู่ตามโขดหิน ได้แก่ปลาจำพวกชิคลิด (cichlid) ซึ่งส่วนมากเป็นปลาพื้นเมืองอัฟริกัน ชอบอยู่ตามโขดหินในที่ที่มีน้ำกระด้าง ไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงในตู้ปลาน้ำอ่อน

10. ปลาที่ต้องแยกพวกเลี้ยง ปลาประเภทนี้ต้องการตู้เลี้ยงพิเศษ เพราะส่วนมากไม่ชอบรวมกลุ่ม มีปลาปอมปาดัวลายน้ำเงิน ปลาออสการ์ ปลาหางพิณ และปลาลายตลก เป็นต้นบางชนิดก็เป็นปลาเก็บตัวในเวลากลางวัน ถ้าจะเลี้ยงปลาประเภทนี้ท่านต้องแยกพวกเลี้ยงในตู้ปลาต่างหาก อย่าเลี้ยงปะปนกับปลาที่ชอบอยู่เป็นกลุ่ม

การเลือกปลาที่จะเลี้ยง

เมื่อได้ตระเตรียมการขั้นต่างๆ ไว้พรักพร้อมแล้วก็ถึงตอนจัดหาปลาที่จะเลี้ยงมาลงอ่าง

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอะไร ท่านไม่จำเป็นต้องรีบร้อนซื้อหามา ค่อยๆ ดูค่อยๆ เลือกไปใจเย็นๆ ผลที่จะเกิดเป็นความเพลิดเพลินเจริญตาเจริญใจในการเลี้ยงปลาตู้ของท่านอยู่ที่การจัดหาปลามาเลี้ยงเป็นสำคัญ ถ้าไม่รอบคอบระมัดระวังท่านอาจได้ปลาที่อ่อนแอขี้โรค หรือบางทีปลาอาจต้องเดินทางไกลกว่าจะถึงตู้เลี้ยงของท่าน ทำให้เกิดความกระปลกกระเปลี้ยไม่แข็งแรง มันก็อาจกลายเป็นปลาขี้โรคไปได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นท่านควรศึกษาวิธีเลือกและวิธีพาปลามาลงอ่างให้ดีเสียก่อน

สิ่งแรกที่พึงสังวรคือเรื่องขนาดของปลาเมื่อโตเต็มที่ ปลาส่วนใหญ่ที่อยู่ในตู้ปลาของผู้ขายเป็นปลาวัยรุ่น หรือปลาที่เพิ่งจะโต เมื่อท่านเอามาเลี้ยงในอ่างของท่าน เวลาโตเต็มที่มันอาจมีขนาดยาวถึง 5 นิ้วฟุต หรือ 13 เซนติเมตร ส่วนปลาชนิดอื่นเมื่อโตเต็มที่อาจมีขนาดยาวเพียง 1.5 นิ้วฟุต หรือ 3.75 เซนติเมตร ถ้าเอามาเลี้ยงปนกัน ท่านคงจะหลีกเลี่ยงกฎแห่งความป่าเถื่อนไม่พ้น คือปลาใหญ่จะรังแกปลาเล็ก เพราะฉะนั้นเวลาซื้อปลาท่านควรถามเจ้าของให้รู้แน่เสียก่อนว่ามันเป็นปลาขนาดไหนเมื่อโตเต็มที่

หลักปฏิบัติที่พึงสำเนียงในข้อนี้ก็คือ เราไม่ควรจะเลี้ยงปลาที่ต่างขนาดกันมากไว้ในตู้เดียวกัน ปลาที่จะอยู่ในตู้เดียวกันจะต้องเป็นปลาที่มีขนาดไล่เลี่ยกันเมื่อโตเต็มที่ในแต่ละตัว

ปลาที่เขาเลี้ยงไว้ขายโดยมากอยู่ในตู้ปลาโล่งๆ แสงสว่างในร้านขายทำให้เราแลเห็นตัวปลาได้ถนัดชัดเจน ถ้าเราไม่รู้ประเภทของปลาเราอาจหลงซื้อปลาที่ออกกลางคืนมา เวลากลางวันมันจะหมกซ่อนตัวอยู่ตามต้นพืชและเบื้องหลังก้อนหินตลอดเวลา ซึ่งแทนที่จะได้ชมเล่นในเวลากลางวันเรากลับจะไม่ได้เห็นมันเลย

การปล่อยตู้ว่างชั่วคราว

เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ผู้ริเริ่มเลี้ยงปลาคงจะเอาปลามาลงตู้ ตามหลักการในการปล่อยปลาลงตู้นั้น ทุกสิ่งทุกอย่างภายในตู้จะต้องทำงานเป็นปกติเสียก่อน ในชั้นหลังนี้มีผู้เห็นว่าเราควรปล่อยให้เครื่องทำงานไปสักพักก่อนจะดีกว่า กล่าวคือปล่อยให้ตู้ว่างอยู่ชั่วคราวสักสองสามสัปดาห์จึงค่อยเอาปลามาลงตู้ ในระหว่างที่ตู้ว่างนี้ท่านอาจเลือกหาปลาได้อย่างเหมาะใจเพราะการเลือกซื้อปลานั้นจะทำอย่างผลุนผลันไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วผลที่ได้จะไม่คุ้นกัน และเมื่อท่านคุ้นกับสภาวะของตู้ปลาของท่านดีแล้ว ท่านจะได้ตัดสินใจถูกว่า ปลาชนิดไหนบ้างจะเหมาะกับตู้ปลาของท่าน ในระหว่างที่ปล่อยให้ตู้ว่างชั่วนี้ ท่านคงใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในการเลือกซื้อปลามาลงตู้ดังจะกล่าวต่อไปในบทหน้า

การตระเตรียมขั้นสุด

เมื่อปักดำพืชเสร็จและเติมน้ำให้เต็มตู้แล้ว ก็เป็นตอนตระเตรียมขั้นสุดท้ายและลองเครื่องอุปกรณ์ที่ติดไว้

กล่องเครื่องกรองควรบรรจุปุยกรองน้ำเสียในตอนนี้รวมทั้งแผ่นคาร์บอน และเปิดกาลักน้ำให้สามารถทำงานได้ เมื่อเอาเครื่องกรองไว้มันที่ของมันเรียบร้อยแล้ว น้ำจะเข้าสู่เครื่องกรองคอยเวลาปล่อยอากาศเข้าไป ส่วนเครื่องกรองน้ำภายนอกเครื่องบรรจุปุยกรองน้ำไว้พร้อมสรรพแล้วจะต้องต่อท่อไปปลายข้างหนึ่งโยงไปเข้าเครื่องสูบอากาศ ผ่านเครื่องกรองซึ่งจะชักน้ำจากตู้เข้าไปในเครื่องกรอง แล้วทิ้งน้ำสะอาดกลับเข้าไปลงตู้ทางสายท่ออีกข้างหนึ่ง

ดูสายไฟที่โยงไปยังเครื่องต่างๆ ภายในตู้ให้เรียบร้อย เอาเทอร์โมมิเตอร์ไว้ตามที่ที่จะเห็นได้ง่าย จัดท่ออากาศไว้ในหลอดเชื่อมกับเครื่องกรองทางชีวภาพให้เข้าที่ รวมทั้งจัดวางวัสดุจำแนกพรายน้ำไว้ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็จัดการปิดฝาได้ แล้วปิดฝาครอบที่ติดดวงไฟดูความสว่างว่าสมควรหรือไม่ ถ้าสว่างจ้านักต้องลดแรงไฟลง เพื่อมิให้ตะไคร่เจริญเร็วเกินไป

ในขั้นนี้เมื่อเปิดสวิทซ์ไฟส่งกำลังแล้ว แสงนีออนที่เครื่องส่งความร้อนจะแสดงว่า เครื่องกำลังทำงาน เราต้องคอยอ่านเทอร์โมมิเตอร์ดูการเปลี่ยนระดับอุณหภูมิเท่านั้น ไม่บังควรจะล้วงลงไปเอาเครื่องมาดูว่าทำงานหรือไม่เป็นอันขาด

เรื่องที่ทำให้สงสัยอีกเรื่องหนึ่ง คือการทำงานของเครื่องกรองวัสดุจำแนกพรายน้ำอาจไม่เกินกัน ข้อนี้แก้โดยการปรับท่อสูบภายนอกให้อากาศไปยังของทั้งสองอย่างได้ในเวลาเดียวกันจนกระทั่งน้ำไหลจากท่อเครื่องกรองกลับคืนถังได้พร้อมกับมีพรายน้ำขึ้นจากเครื่องจำแนกน้ำและ/หรือจากระบบกรองน้ำทางชีวภาพอย่างน่าพอใจ

การปักดำพืชในตู้

เมื่อจัดแต่งอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว จึงเอาพืชที่จะประดับตู้ปลาปักดำไว้ในกรวด วิธีปักดำอาจทำได้ในระหว่างที่ตู้ยังไม่ได้บรรจุน้ำ หรือปักดำในน้ำ วิธีหลังเป็นวิธีที่ดีกว่า เพราะพืชจะอยู่ในลักษณะตามธรรมชาติของมันทันที และเราอาจดูได้ว่าพืชอยู่ที่ที่เราต้องการแล้วหรือยัง ดังนั้นในตอนนี้จึงควรเอาน้ำบรรจุตู้ได้แล้ว แต่อย่าเพิ่งใส่ให้เต็ม เพียงสักสามในสี่ของถังก่อน เพื่อกันน้ำล้นเมื่อเราใช้มือลงไปปักดำพืช เมื่อเสร็จแล้วจึงค่อยเติมน้ำทีหลังได้ แต่ในเวลาเติมน้ำให้ใช้วิธีริน อย่าเทมิฉะนั้นน้ำจะไปกวนกรวดให้เคลื่อนไหวและเปลี่ยนที่ไป

การปักดำให้ทำจากด้านหลังออกมาหาข้างหน้า พืชที่สูงกว่าเพื่อนให้อยู่ชิดด้านหลัง ส่วนพืชเตี้ยให้อยู่ข้างหน้าหรือระหว่างก้อนหิน ถ้ามีพืชพันธุ์เทศด้วย ควรแยกไว้โดดๆ จากพืชกลุ่มอื่นเป็นดีที่สุด เวลาปักดำท่านไม่จำเป็นต้องปักให้ลึกลงไปเพียงปักให้เรี่ยพื้นกรวดแต่ให้ยืนต้นอยู่ได้เท่านั้นก็พอ แล้วพืชจะหยั่งรากลงไปยึดกับกรวดเอง วิธีนี้ถ้าท่านเห็นว่าพืชยังอยู่ไมเหมาะที่ ท่านก็อาจย้ายที่ได้โดยง่าย

การจัดแต่งขั้นต้น

ก่อนที่จะลงมือจัดแต่งตู้ปลาของท่าน ควรกำหนดแนวการจัดแต่งเสียก่อน เช่นท่านจะใช้แผ่นกรองน้ำทางชีวภาพหรือไม่ เพราะถ้าใช้ก็ต้องเอาลงไว้ที่ก้นอ่างก่อนอุปกรณ์ใดๆ หมดต่อจากนั้นจึงเอากรวดดาดพื้น (เหนือแผ่นกรองน้ำ) ให้สูงพอสำหรับพืชที่จะหยั่งรากตั้งแต่ 2 ถึง 3 นิ้วฟุต โดยเกลี่ยให้ลาดจากด้านหลังลงมาหาด้านหน้าเล็กน้อย จัดวางหินและสิ่งประกอบ (ท่อนและรากไม้ที่ไล่ยางออกหมดแล้ว) ไว้ในที่ที่กำหนด แต่ต้องเว้นที่ว่างไว้สำหรับพืชที่จะปลูกบ้าง

ในระหว่างที่ตู้ยังไม่ได้บรรจุน้ำให้ติดอุปกรณ์ต่างๆ ไว้เสียให้ครบ เช่นเครื่องกรองน้ำทั้งข้างนอกข้างใน เครื่องวัดและปรับอุณหภูมิเป็นต้น

ตามปกติเครื่องจ่ายความร้อนและเครื่องปรับอุณหภูมิในตัวนั้นมีปลอกดามมาให้เสร็จ แต่ถ้าไม่มีท่านอาจหาปลอกดามเอาเองได้ แต่อย่าใช้ปลอกโลหะ ถ้าตู้ปลาของท่านเป็นตู้ขนาดใหญ่ควรใช้สองเครื่อง ส่วนการเชื่อมต่อสายควรจะทำให้รัดกุมเสียแต่ข้างนอก

กล่องกรองน้ำให้ติดไว้ที่ปลายตู้ด้านใดด้านหนึ่ง หรือติดไว้ข้างตู้ก็ได้แต่ควรเป็นด้านหลังของตู้และต้องอยู่ในลักษณะที่ท่อกาลักน้ำทำงานได้โดยสะดวก อย่าเอาหินก้อนใหญ่ไปบังทางน้ำไหลเสีย ถ้าทำได้น้ำสะอาดจากเครื่องกรองควรให้เป็นคนละทางกับน้ำที่เข้าเครื่องทางท่อกาลักน้ำโดยต่อท่อออกจากทางน้ำออกให้ห่างจากตัวเครื่อง หรือในกรณีที่ท่านใช้เครื่องที่มีท่อถ่ายน้ำต่างหาก ให้วางท่อไว้ในอีกด้านหนึ่งของเครื่องสูบน้ำเข้า อาจเป็นที่มุมตรงกันข้ามก็ได้

เครื่องให้อากาศและกระจายพรายน้ำอาจเอาไว้ข้างหลังก้อนหินในตู้ โดยฝังท่อปล่อยอากาศไว้ในกรวดใช้หินยึดไว้ส่วนตัวท่ออากาศจากเครื่องสูบอากาศเข้าสู่ท่อควรติดให้เหนือระดับน้ำที่จะบรรจุในขั้นสุดท้าย ซึ่งอาจโยงไปยังเครื่องกรองน้ำได้ในตอนนี้