การรักษาโรคปลา

เมื่อปลาตัวใดตัวหนึ่งในตู้เลี้ยงปลาเกิดเป็นโรค หลักปฏิบัติกว้างๆ ต้องแยกปลาตัวนั้นออกจากตู้เลี้ยงเสียทันที เพื่อมิให้โรคติดถึงตัวอื่น แล้วนำปลาที่เป็นโรคนั้นลงตู้กักปลา หรือตู้ปลาพยาบาล เพื่อทำการบำบัดรักษาต่อไป แต่การที่จะรักษาโรคปลาให้ได้ผล เราจะต้องตรวจวินิจฉัยให้รู้ว่าปลาเป็นโรคอะไรเสียก่อน

ความผิดปกติที่เกิดแก่ปลาในชั้นต้นได้แก่การมีเมือกมากเกินไป อาการเช่นนี้จะบอกให้รู้ได้ว่า มีสิ่งผิดปกติเกิดแก่ปลาขึ้นแล้ว การที่ปลาเกิดเมือกมากเกินไปอาจเป็นเพราะมีบาดแผลเกิดขึ้น ทำให้ปลาขับเมือกออกมากเพื่อสมานบาดแผลก็ได้ หรือเมือกอาจเกิดเองเพื่อกำบังตัวพยาธิที่อาศัยตัวปลาก็ได้ ถ้าเป็นประการหลังให้ดูว่า ปลาจะมีอาการต่อไปเช่นไรบ้าง ดังได้จาระไนไว้ในหัวข้อโรคต่างๆและวิธีการรักษาในหน้าต่อนี้แล้ว

การบำบัดรักษาโดยทั่วๆ ไป มีการให้ยาและอาบน้ำยาเป็นหลัก ข้อที่ควรตระหนักในที่นี้ก็คือ การอาบน้ำยามีทั้งวิธีอาบชั่วระยะสั้น เพียงไม่กี่นาที และวิธีอาบระยะยาวซึ่งใช้เวลานานจนกว่าน้ำยาจะอ่อนฤทธิ์ หรือโรคจะหาย การอาบระยะยาวนี้ต้องใช้ยาอ่อน สูตรการผสมน้ำยานั้นได้ให้ไว้แล้วในหัวข้อโรคต่างๆ เช่นกัน ส่วนการให้ยาก็ต้องละลายน้ำก่อนเสมอและต้องให้ตามสูตรที่แจ้งไว้ในรายการสั่ง ในบางกรณีการให้ยาอาจทำได้โดยการให้อาหารตามปกติ โดยเอาอาหารเกลือกยาเสียก่อน แต่วิธีนี้ให้ผลไม่สู้แน่นอนนัก เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าอาหารจะได้ยาสักเท่าใด

ในระหว่างการบำบัดรักษา ถ้าเป็นการรักษาภายในตู้เลี้ยงควรเอาแผ่นคาร์บอนในเครื่องกรองน้ำออกเสีย เพราะคาร์บอนจะดูดยาไว้ทำให้ยาไม่เกิดผล และในระหว่างการบำบัดรักษาออกซิเจนในน้ำอาจน้อยลงด้วยฤทธิ์ยา ฉะนั้นจึงควรสูบอากาศเข้าไปในน้ำให้มาก พืชบางชนิดก็อาจได้รับผลเสียจากยาได้ ฉะนั้นถ้าการบำบัดรักษากระทำภายในตู้เลี้ยง เมื่อพ้นกำหนดแล้วควรจัดการเปลี่ยนพืชในตู้เสียด้วย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น