สีสันของปลา

สีสันของปลานั้นนอกจากจะชวนเพลินแก่ผู้เลี้ยงปลาแล้วยังมีความหมายสำคัญในส่วนของปลาเองหลายประการๆ แรกก็คือ บอกลักษณะเฉพาะของชนิดโดยทั่วไป และบอกลักษณะเพศโดยเฉพาะ ประการที่สองเป็นสีที่อาจลวงตาศัตรูให้พร่าพราว ช่วยให้มันหนีได้โดยสะดวก หรือทำให้ศัตรูเกิดสำคัญผิดในเป้าหมายที่โจมตีก็ได้ หรือสำคัญว่าเป็นสิ่งมีพิษก็ได้ ประการที่สามสีอาจบอกอารมณ์ของปลาในเวลาตกใจหรือเวลาโกธรอีกด้วย

การประกอบสีสันในตัวปลามีสองวิธี วิธีหนึ่งโดยการสะท้อนแสง วิธีที่สองโดยการทำสีได้เอง

สีที่เราเห็นเป็นสีเขียวยวงเรืองๆ ที่ด้านข้างของปลาน้ำจืดหลายชนิดนั้นเกิดจากการสะท้อนแสงของวัสดุอย่างหนึ่งในตัวปลาเรียกว่า ควานิน (Quanin) วัสดุนี้เป็นเมือกใสในตัวปลาที่แผ่ไปใต้ผิวหนัง เมื่อแสงตรงตัวปลาตรงไหนควานินก็จะสะท้อนแสงตรงนั้นทำให้เกิดสีสันขึ้น ดังจะเห็นได้จากปลาที่เลี้ยงไว้ในตู้ เมื่อปลาว่ายมาทางหน้าตู้ได้รับแสงสว่างก็จะเกิดการสะท้อนแสงแปลกตากว่าที่เราเห็นเมื่อแสงส่องตรงเหนือตัวปลา ดังนี้เป็นต้น

ปลาที่มีสีเข้มในตัวนั้นมีเซลสร้างสีอยู่ในตัวของมัน แถมบางชนิดยังอาจบังคับปริมาณของสีที่แสดงออกได้ด้วย ดังเราจะเห็นได้โดยง่ายในปลาจำพวกที่ชอบนอนตามกรวดหรือหินที่พื้นตู้ ซึ่งมันจะปรับสีในตัวของมันให้เข้ากับสีกรวดและหินได้เป็นอย่างดี ปลาบางชนิดสามารถปรับสีให้เข้ากับเวลากลางคืนได้ เช่นปลาดินสอเวลากลางคืนเป็นสีอย่างหนึ่ง พอรุ่งเช้ากลายเป็นสีอีกอย่างหนึ่ง การเปลี่ยนสีได้นี้บังเกิดขึ้นได้โดยการหดตัวหรือขยายตัวของเซลสี เรียกว่า โครมาโตฟอร์ (Chromatophores) ทำให้สีเข้มก็ได้ สีจางก็ได้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น