การให้แสงสว่าง

แสงสว่างไม่แต่จะช่วยให้ผู้เลี้ยงมองเห็นปลาในตู้เท่านั้นหากยังช่วยให้ปลาเกิดความกระปรี้กระเปร่า และบำรุงพืชที่เราใส่ไว้ในตู้เพื่อตบแต่งตู้ด้วย ปฏิกิริยาของพืชต่อแสงนั้นเรียกว่า การสังเคราะห์แสง (photosynthesis) อันมีความสำคัญต่อปลาด้วยเหมือนกัน กล่าวคือการสังเคราะห์แสงของพืชจะช่วยดูดกลืนคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก ทำให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำลดลง ซึ่งเป็นคุณประโยชน์แก่ปลาอย่างยิ่ง

การให้แสงสว่างอาจทำได้สองแบบๆ หนึ่งคือใช้หลอดไฟฟ้าธรรมดา และอีกแบบหนึ่งใช้หลอดนีออน หรือจะใช้ทั้งสองแบบรวมกันก็ได้ แต่ละแบบต่างก็มีข้อดีและข้อเสียสำหรับแบบแรกข้อดีก็คือ เราอาจจะโยงสายสวมหลอดไฟที่ใช้ส่องสว่างภายในบ้านใช้ได้โดยไม่ต้องใช้หลอดใหม่ หรือเพียงแต่เสียค่าหลอดใหม่เพียงเล็กน้อย ส่วนข้อเสียดวงไฟอาจส่องความร้อนให้แก่ตู้ปลามากเกินไป และถ้าเปิดนานๆ หลอดก็อาจเสียได้ง่าย ถ้าใช้หลอดนีออนต้องเสียค่าอุปกรณ์ติดตั้งแพงกว่าหลอดไฟธรรมดา และขนาดของหลอดก็อาจไม่พอเหมาะพอดีกับขนาดของตู้ แต่มีข้อดีอยู่ว่า แสงสว่างจากหลอดนีออนเป็นแสงเย็น คือไม่กระจายความร้อนมากนัก อาจเปิดทิ้งไว้ได้นานไม่สู้กินไฟ และอาจเล่นสีได้หลายสี

ตามปกติตู้ปลามีฝาปิดกันฝุ่นละอองและเขม่า ในการให้แสงสว่างแก่ตู้ปลา ควรจะใช้ฝาครอบหรือกระโปรงบนฝาปิดอีกชั้นหนึ่ง โดยบรรจุหลอดไฟไว้ข้างใต้ฝาครอบ ถ้าใช้หลอดไฟธรรมดาควรเจาะรู หรือทำช่องในที่สะท้อนแสง เพื่อระบายความร้อนจากหลอดไฟมิให้กระจายลงสู่ตู้มากนัก ทั้งจะช่วยให้หลอดทนทานด้วย

การให้แสงสว่างควรจะให้ผลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่สะท้อนแสงจึงควรจะทาสีขาวข้างใน หรือบุด้วยแผ่นโลหะสะท้อนแสง และในการติดหลอดไฟนั้น ไม่ว่าจะเป็นหลอดนีออนหรือหลอดไฟธรรมดา หรือทั้งสองอย่างรวมกัน ควรให้แสงพุ่งลงทั้งข้างล่างและข้างหลังตู้เล็กน้อย เพื่อมิให้ข้างหลังตู้มืด ส่วนฝาปิดตู้ก็หมั่นเช็ดให้สะอาด เพื่อให้ตู้ปลารับแสงได้เต็มที่

อนึ่งแสงไฟนั้นไม่ควรสว่างจ้าเกินไป เพราะจะทำให้ตะไคร่ขึ้นจับตู้ ใช้ดวงไฟแรงเทียนต่ำเป็นดีที่สุด

ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ไฟฟ้าถึงแม้จะมีแรงเทียนต่ำแต่ก็สว่างก็คือความใสของน้ำ น้ำที่มีฝุ่นละอองเจืออยู่จะทำให้ดูขุ่น ไม่ใสสว่างตา เพราะฉะนั้นจึงควรทำให้น้ำในตู้ใสสว่างอยู่ตลอดเวลาด้วย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น